กรุงเทพฯ 18 มี.ค. – โรงไฟฟ้าบางปะกง เตรียมใช้ปาล์มน้ำมันผลิตกระแสไฟฟ้า 1,500 ตันต่อวัน โดยจะเริ่มพรุ่งนี้เป็นวันแรก หลังทดสอบการเดินเครื่องเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมาไม่พบปัญหา
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงการใช้น้ำมันปาล์มผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา และพิจารณาเพิ่มจุดรับซื้อปาล์มน้ำมันเพิ่มเติม ว่า คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ หรือ กนป. ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฟผ.เพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากวันละ 1,000 ตันเพิ่มเป็นวันละ 1,500 ตัน เพื่อเร่งดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบได้เร็วขึ้น ซึ่งล่าสุดจากการทดสอบระบบการผลิตโดยใช้ปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้นที่โรงไฟฟ้าบางปะกงเมื่อช่วงเที่ยงวันที่ 18 มีนาคม 2562 นั้นสามารถทำได้ ทำให้โรงไฟฟ้าบางปะกง จะเพิ่มปริมาณการใช้น้ำนัมปาล์มวันละ 1,500 ตันผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปซึ่งปริมาณน้ำมันปาล์มที่เพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ในปี 2561 ไทยผลิตปาล์มน้ำมันได้ 2 ล้าน 5 แสนตันถึง 2 ล้าน 6 แสนตัน แต่ในปี 2562 คาดว่าจะมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดประมาณกว่า 3 ล้านตัน ดังนั้น กฟผ.จะต้องเพิ่มจุดรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบที่ จ.สุราษฎร์ธานีอย่างเร่งด่วนโดยจะรับซื้อปาล์มน้ำมันได้ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป คาดว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถขายปาล์มดิบได้ในราคากิโลกรัมละ 3 บาท – 3.20 บาท นอกจากนี้จะเร่งดำเนินการชำระเงินให้แก่โรงสกัดให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการ จากเดิม 15 วันทำการ
ปัจจุบันมีผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้ กฟผ.จำนวน 31 ราย รวมปริมาณ 155,000 ตัน โดย กฟผ.ได้ทำสัญญาเสร็จเรียบร้อยแล้วปริมาณ 126,000 ตัน คงเหลืออยู่ระหว่างการทำสัญญา 29,000 ตันและอยู่ระหว่างการแจ้งของกรมการค้าภายในอีก 5,000 ตันซึ่งจะทำให้ครบ 160,000 ตันตามที่ได้ตั้งเป้าเอาไว้
นายศิริ กล่าวถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ รวมกำลังการผลิต 2,725 เมกกะวัตต์ ว่า จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 10 ปีโดยจะนำร่องโครงการแรกมูลค่า 2,0000 ล้านบาท ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานีใช้พื้นที่ผิวน้ำในการติดตั้ง 450 ไร่ ขนาด 45 เมกกะวัตต์ซึ่งเป็นโครงการไฮบริดแห่งแรกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย กฟผ.จะออกประกาศเชิญชวนในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 และยื่นซองประมูลภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 และจะประกาศผู้ชนะภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2562 คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในเดือนมกราคม 2563 และจ่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ทันตามแผนในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่ง รัฐมนตรีพลังงานย้ำว่า จะให้แต้มต่อสำหรับผู้ประมูลที่เป็นคนไทยและใช้อุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศไทยก่อนเป็นอันดับแรก . – สำนักข่าวไทย