นครสวรรค์ 1 มี.ค. – “กฤษฎา” ชมนักบินฝนหลวงแก้ไขสถานการณ์เร็ว ใช้ระบบแมนนวลนำเครื่องบินลงได้ เผยห้อยพระกริ่งปวเรศ วัดบวรฯ และบารมีในหลวง ร.9 และ ร.10 คุ้มครอง ทุกคนปลอดภัย
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงกรณีเกิดเหตุเครื่องบินฝนหลวงขัดข้องลงจอดฉุกเฉินที่ จ.นครสวรรค์ ว่า ไม่ตกใจ เพราะเห็นนักบินและช่างเครื่องช่วยกันแก้ไข จนสามารถนำเครื่องลงจอดได้ด้วยระบบแมนนวล หลังจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้งานไม่ได้ และยืนยันเดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยเครื่องบินฝนหลวง เพราะมั่นใจชาวฝนหลวงทำงานด้วยจิตบริสุทธิ์ ช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกร ซึ่งอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ ในช่วงชีวิตเคยเจอมาสมัยอยู่ จ.สงขลา นั่งเฮลิคอปเตอร์เกิดไหม้ที่ควบคุมด้านบน ก็ไม่เป็นอะไร
“ไม่กลัว ตอนนี้อายุ 62 ปีแล้ว และวันนี้ทุกคนไม่มีใครบาดเจ็บ ต้องชมนักบินฝนหลวงมีความชำนาญ ได้ย้ำให้อธิบดีกรมฝนหลวงฯ ดูแลซ่อมบำรุงเครื่องบินให้พร้อม พวกเรามุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติการ ด้วยพระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 คุ้มครองทุกคนให้ปลอดภัย เปิดงานฝนหลวงได้สำเร็จ” นายกฤษฎา กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คล้องพระอะไรหรือไม่ นายกฤษฎา กล่าวว่า คล้องพระองค์เดียวมาตลอด คือ พระกริ่งปวเรศ วัดบวรนิเวศฯและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คิดถึงอยู่ในใจตลอดเวลา คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10
ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ได้ซ่อมบำรุงอากาศยานอย่างต่อเนื่องตามหลักมาตรฐานสากล ซึ่งเครื่องบินลำดังกล่าวได้ตรวจทดสอบเครื่องก่อนออกทำการบินได้ทดสอบระบบแล้ว ปรากฏว่า ก่อนลดระดับเครื่องลง ระบบอิเล็กทรอนิกส์เกิดขัดข้อง นักบินจึงเปลี่ยนไปใช้ระบบควบคุมด้วยมือ และประสานหอบังคับการบิน ภาคพื้น ให้ดูล้อกางหรือพร้อมจึงลงได้
“ขณะทำการบินลงมา ระบบแมนนวลเกือบสุดรันเวย์ เพราะระยะทางรันเวย์สั้น 1.4 พันเมตร ซึ่งเครื่องบินขนาดใหญ่ควรใช้ระยะรันเวย์ระดับ 1.8 พันเมตร ดังนั้น นักบินต้องลดระยะที่ใช้ความชำนาญด้วยการลดปริมาณน้ำมันลงให้พอดี ลดน้ำหนักเครื่องด้วย สามารถลงมาด้วยความปลอดภัย จากที่ต้องใช้ระบบเบรกมาก ทำให้ล้อระเบิดได้ ถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณปกป้องคุ้มครอง ทั้งนี้ จะสอบข้อเท็จจริงตามหลักนิรภัยการบิน ทุกครั้งที่เกิดอุบัติภัย รายงานผู้บังคับบัญชาทราบ” นายสุรสีห์ กล่าว
อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า เครื่องรุ่นนี้ซื้อระบบจีทูจีแลกข้าวกับรัฐบาลอินโดนีเซีย อายุใช้งานกว่า 20 ปี ซึ่งให้ความสำคัญมากกับการบำรุงรักษาอย่างดี สมรรถนะพร้อม จะเห็นว่าลงได้ปลอดภัยในภาวะไม่ปกติ เพราะความรู้ความชำนาญนักบินต้องให้เครดิต
ส่วนเฮลิคอปเตอร์ที่เกิดอุบัติเหตุเร็ว ๆ นี้ จากระบบไฮดรอลิกไม่ทำงานใช้แมนนวล เมื่อเกิดพายุหมุนเสียการทรงตัว พลิกคว่ำ ไม่ได้เกิดจากความประมาท สำหรับเครื่องบินซีเอ็นจากระบบเครื่องบินบางส่วนไม่ทำงาน จึงแก้ไขนำเครื่องลงได้ทันท่วงที ทั้งนี้ เครื่องบินฝนหลวงทำงาน 8 เดือนเต็ม ปฏิบัติการฝนหลวง โดยไม่มีวันหยุดราชการ ปีนี้เป็นปีไม่ปกติ เกิดปัญหาฝุ่นละออง หมอกควัน ตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 4 ชุด ปฏิบัติการทุกวัน ในปีที่ผ่านมาตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว 2-3 เที่ยว/สัปดาห์ โดยไม่มีวันหยุด และภัยแล้งมาเร็วอีกด้วย ซึ่ง รมว.เกษตรฯ ให้ตั้งฐานปฏิบัติการฝนหลวง 10 หน่วยรองรับวิกฤติ.-สำนักข่าวไทย