น่าน 28 ก.พ.- กลุ่มชาวบ่อเกลือแจงที่มาที่ไปการทำฝายมีชีวิต หลังถูกนักสารคดีเอกชนโพสต์ตำหนิเป็นสาเหตุให้ปลากองไม่ขึ้นโชว์ตัวในลำน้ำมาง ทั้งที่ได้อธิบายให้เข้าใจแล้ว ระบุฝายเกิดความร่วมมือของชุมชนช่วยกันแก้ปัญหาน้ำ ยืนยันลำน้ำมางก็ไม่มีฝาย
วันนี้ (28 ก.พ.) ที่ห้องประชาคมจังหวัดน่าน นางสุภาพ สิริบรรสพ เลขานุการศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน ดร.ทวน อุปจักร แกนนำชุมชนจิตอาสาและเครือข่ายฝายมีชีวิต อ.บ่อเกลือ และ พ.อ.รัตนะ พัฒนโสภณ ผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 32 ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีการแชร์โพสต์ของบุคคลหนึ่งเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งโพสต์ข้อความตำหนิรุนแรงว่าปลากองในลำน้ำมาง อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ไม่ขึ้นมาให้ถ่ายภาพสารคดี เป็นเพราะการทำฝายมีชีวิต ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์นั้น การโพสต์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความรู้สึกชาวชุมชนที่ร่วมกันทำฝายทั้งในพื้นที่บ่อเกลือและอีกหลายอำเภอที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำฝายมีชีวิต เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำกว่า 60 ตัว
ดร.ทวน กล่าวว่า ผู้โพสต์เป็นกลุ่มจากบริษัทเอกชนที่มาติดต่อสอบถามข้อมูลและขอสัมภาษณ์ตนเกี่ยวกับปลากองในลำน้ำมาง ซึ่งไม่คิดว่าจะมีการโพสต์ในลักษณะตำหนิฝายมีชีวิตที่รุนแรง เนื่องจากไม่เกี่ยวกัน โดยในลำน้ำมางและลำน้ำว้า ไม่มีการทำฝายมีชีวิต และที่ระบบนิเวศน์เสียหายเกิดจากการมาขุดลอกลำน้ำเมื่อปี 2558 ซึ่งครั้งนั้นชาวอำเภอบ่อเกลือได้ร่วมกันปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เสียหาย ในฐานะที่ตนเป็นเครือข่ายฝายมีชีวิต ทราบดีว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาน้ำในพื้นที่อำเภอบ่อเกลือได้ และชาวบ่อเกลือมีความต้องการฝายมีชีวิตเพื่อจัดการเรื่องน้ำแล้งน้ำป่าหลาก สำหรับข้อความที่โพสต์ก็กระทบจิตใจและความรู้สึกของคนอำเภอบ่อเกลือด้วย ซึ่งตนได้พยายามอธิบายให้ผู้โพสต์รับฟังข้อมูลและข้อเท็จจริงแล้ว โดยผู้โพสต์ยกอ้างงานวิจัยหลายชุดมาอ้างอิง ซึ่งตนก็ได้ทำงานวิจัยเรื่องปลากองและฝายมีชีวิตระดับพื้นที่อำเภอบ่อเกลือเช่นกัน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) แต่ผู้โพสต์ไม่ได้ขอโทษหรือถอดกระทู้โพสต์ออกจากโลกโซเชียล
ด้านนางสุภาพ ในฐานะผู้ขับเคลื่อนฝายมีชีวิตเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำในระดับ 17 จังหวัดภาคเหนือ จนได้ฉายา เจ้าแม่ฝายมีชีวิต กล่าวว่า ฝายมีชีวิตมีองค์ประกอบที่เรียกว่า 3 ประการ คือ ต้องทำเวทีประชาเข้าใจ ต้องไม่มีค่าแรง และต้องมีกฎกติกาในการใช้และดูแลรักษาฝาย ถึงจะเป็นฝายมีชีวิต กว่าจะได้ฝายแต่ละตัวต้องเป็นความต้องการและความเข้าใจเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งฝายมีชีวิตเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้กักเก็บน้ำและความชุ่มชื้นให้กับดินโดยรอบตัวฝาย 1 ตารางกิโลเมตร ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่าย ไม้ไผ่ ทราย ส่วนกระสอบพลาสติกและเชือกใยยักษ์ เพราะอาศัยคุณสมบัติที่ทนทานในน้ำเพื่อยืดอายุของตัวฝาย ซึ่งกระสอบพลาสติกหากนำไปเผาหรือฝังก็ยังเป็นมลภาวะ จึงนำคุณสมบัติเอามาช่วยทำให้ฝายมีชีวิตแข็งแรง แต่จะไม่เป็นขยะในแหล่งน้ำ เนื่องจากชุมชนมีความรู้ที่สามารถซ่อมแซมฝายได้เองโดยไม่ต้องหวังพึ่งงบประมาณหรือคนจากนอกชุมชน ทางมณฑลทหารบกที่ 38 และกรมทหารพรานที่ 32 ได้สร้างครูฝายมีชีวิตและครูฝายชุมชนเพื่อเป็นการเพิ่มปราชญ์ท้องถิ่นในการบริหารจัดการแหล่งน้ำโดยชุมชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ การออกแบบตัวฝายที่ต้องมีบันไดนิเวศน์ทั้งหน้าและหลังตัวฝาย เพื่อจะให้สัตว์น้ำ ปลา เต่า สามารถปีนขึ้นไปวางไข่หรือผสมพันธุ์ได้ จึงทำให้ระบบนิเวศน์บริเวณตัวฝายสมบูรณ์ขึ้นมา มีหลายฝายที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจน อย่างไรก็ตามทางเครือข่ายฝายมีชีวิตยินดีพร้อมรับฟังคำแนะนำและข้อติติง แต่ต้องตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ด้วย
นางสุภาพ กล่าวด้วยว่า การออกมาชี้แจงครั้งนี้ เพื่อให้สังคมเข้าใจเรื่องฝายมีชีวิตและต้องการให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน หากผู้โพสต์มีความสนใจเรียนรู้จริง ทางศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน พร้อมจะนำลงพื้นที่ของชุมชนที่ต้องการทำฝายมีชีวิต.-สำนักข่าวไทย