กทม. 6 ก.พ.- หลังจากผ่านช่วงเทศกาลตรุษจีนไปแล้วในเดือนนี้ยังมีเทศกาลที่สำคัญอีก 2 เทศกาล คือ วันที่ 14 วันวาเลนไทน์และ วันที่ 19 วันมาฆบูชา เรียกได้ว่า เดือนนี้ ดอกไม้ขายดี ใช้ได้ทั้งสองเทศกาลเลยทีเดียวเป็นผลดีต่อเกษตรกร
วันนี้ทางศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้แถลงผลสำรวจการใช้จ่ายทั้ง 2 เทศกาลนี้ โดยไปสำรวจทั่วประเทศ 1,200 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 3 กุมภาพันธ์ ลองไปดูจากผลสำรวจแล้วคุณผู้ชมลองคิดว่า ตรงกับความเห็นของท่านหรือไม่ ผลสำรวจ ส่วนใหญ่จะใช้จ่ายในเทศกาลวาเลนไทน์มากกว่า มาฆบูชา ถึงเกือบร้อยละ 54 มีเพียงร้อยละ 23.8 ที่พบว่าจะใช้จ่ายช่วงมาฆบูชามากกว่า วาเลนไทน์ คาดว่ามูลค่าเงินสะพัดช่วงมาฆบูชาจะอยู่ที่ 2,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 1,642 บาท ส่วนเงินสะพัดหมุนเวียนวาเลนไทน์จะอยู่ที่ประมาณ 3,700 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.17 ต่ำสุดในรอบ 3 ปี มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคน 2,318 บาท ซึ่งการใข้จ่ายที่ลดลงก็เนื่องจากผู้ให้ความคิดเห็นมองว่า เศรษฐกิจไม่ดี สินค้ามีราคาสูงขึ้น ทำให้ระวังการจับจ่ายใช้สอย นอกจากนี้จากสังคมปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้มีการแสดงความรักผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น การใช้จ่ายช่วงวาเลนไทน์ที่ลดลง ก็อาจจะมีจากผลสำรวจมีความคาดหวังจากคู่รักวาเลนไทน์ว่า ไม่ต้องทำอะไรแค่บอกรักก็พอแล้ว มีสัดส่วนถึงร้อยละ 41 อยากได้ขอขวัญแต่ร้อยละ 25 และอยากได้ดอกไม้ ร้อยละ 18 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ดอกไม้ที่ยังนิยมมอบให้กันในวันวาเลนไทน์ ส่วนใหญ่ยังเป็นดอกกุหลาบร้อยละ 70 ตามมาด้วยดอกทิวลิป ดอกลิลลี่ คาร์เนชั่น แต่ที่น่าแปลกใจดอกรักก็ติดอยู่ในดอกไม้ที่นิยมด้วย แต่มีสัดส่วนร้อยละ 0.7
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังสำรวจเรืองปัญหาฝุ่นพิษหากลากยาว 3 เดือน ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูงถึง 40,000 ล้านบาท ส่วนดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม นับว่าดีขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หลังรัฐบาลประกาศวันเลือกตั้งชัดเจน สงครามการค้าจีนกับสหรัฐมีสัญญาณดีขึ้น และคาดไตรมาสแรกเศรษฐกิจไทยโตร้อยละ 3.5 – 4
วันนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ประชุมนัดแรกของปี และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาด ที่ร้อยละ 1.75 ด้วยมติ 4 ต่อ 2 โดยเสียงส่วนน้อย ขอให้ขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ส่วนอีก 1 คนลาประชุม , กนง.เป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจในอนาคต โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยปีที่แล้วไตรมาส 2 อยู่ที่ร้อยละ 77.7 ก็เพิ่มเป็นร้อยละ 77.8 ในไตรมาส 3 ส่วนใหญ่มาจากการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรถยนต์ ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ล่าสุด วันนี้อยู่ที่ประมาณ 31.25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐนั้น กนง.ได้ติดตามอย่างใกล้ชิด สาเหตุหลักมาจากเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เงินบาทไทยตั้งแต่สิ้นปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน แข็งค่าร้อยละ 4.1 ซึ่งอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้เป็นเงินสกุลที่แข็งค่าที่สุดในโลก โดยแข็งค่าน้อยกว่าอินโดนีเซียที่ร้อยละ 4.3 ซึ่งหากผันผวนพบความผิดปกติจะเข้าไปดูแล เพราะค่าเงินบาทมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อและภาพรวมเศรษฐกิจเช่นกัน
นอกจากนี้ กนง.ยังยืนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อเดือนธันวาคมร้อยละ 0.25 ที่ขึ้น เป็นร้อยละ 1.75 ไม่ได้เป็นผลให้เงินทุนไหลเข้าไทย ตัวเลขเงินทุนเคลื่อนย้ายถึงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พบว่า เงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตร 12,000 ล้านบาท แต่ซื้อสุทธิหุ้นไทย 6,400 ล้านบาท รวมสุทธิมีเงินไหลออก 5,600 ล้านบาท
ด้านดัชนีหุ้นไทย วันนี้ปิดตลาดบวก 5.62 จุด ปิดที่ 1,658.71 จุดมูลค่า 38,519.92 ล้านบาท ดีดตัวขึ้นตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยได้รับทิศทางเป็นบวกจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ธนาคารกลางสหรัฐชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีมุมมองค่อนข้างดีต่อการแถลงนโยบายประจำปีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ส่วนที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.แสดงความเป็นห่วงเรื่องค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า จะกระทบการส่งออกของไทยปี 2562 ซึ่ง นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ออกมาเรียกร้องให้แบงก์ชาติ หยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้ เพราะหากขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้เงินบาทแข็งค่ามากยิ่งขึ้น โดยหากแข็งค่าทะลุ 31 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินประเทศอื่นยังทรงตัว ภาคเอกชนจะขอเข้าพบ แบงก์ชาติ เพื่อขอความช่วยเหลือต่อไป โดย กกร.คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวร้อยละ 4.0-4.3 แต่ก็หวั่นสงครามการค้าจีน-สหรัฐกระทบเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทย ซึ่งอาจะทำให้การส่งออกชะลอลง จากที่ ประมาณการว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5-7 ส่วนเงินเฟ้อคาดขยายตัวร้อยละ 0.8-1.2.-สำนักข่าวไทย