กรุงเทพฯ 3 ก.พ. – เกษตรฯ เร่งชี้แจงชาวประมง หลังเตรียมชุมนุมทวงค่าชดเชย กังวลรัฐบาลใหม่ไม่ดำเนินการต่อ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองการนำเรือออกนอกระบบเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน กล่าวว่า ได้สั่งการด่วนที่สุดถึงปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีกรมประมง ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อชาวประมงที่จะมาเรียกร้อง เพื่อเร่งรัดการพิจารณาโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ
นายกฤษฎา ยืนยันว่าคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เร่งรัดการรวบรวมรายละเอียดตามแนวทางดังกล่าว เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาตามขั้นตอนตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะดำเนินการเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อย่างแน่นอน ทั้งนี้ ได้ย้ำให้อธิบดีกรมประมงแจ้งหน่วยงานประมงในพื้นที่ให้เป็นตัวแทนกระทรวงเกษตรฯ นำข้อเท็จจริงไปชี้แจงทำความเข้าใจกับกลุ่มชาวประมงในพื้นที่ผ่านสมาคมหรือองค์กรหรือกลุ่มชาวประมงให้กว้างขวาง รวมทั้งให้ประสานคณะอนุกรรมการพัฒนาเกษตรและสหกรณ์ (อ.พ.ก.) จังหวัดให้เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดทราบ เพื่อขอความร่วมมือนายอำเภอในพื้นที่ร่วมชี้แจง เพื่อเน้นย้ำชาวประมงอย่าเชื่อข่าวลือต่าง ๆ หากชาวประมงยังมีข้อสงสัยหรือต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมส่งตัวเเทนมาพบหรือสอบถามข้อเท็จจริงได้ที่อธิบดีกรมประมงในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ หรือปลัดกระทรวงเกษตรฯ ได้
ด้านนายสุรเดช นิลอุบล นายกสมาคมประมงสงขลา หนึ่งในกลุ่มผู้ประกอบการเรือประมงกลุ่มขาวแดง กล่าวว่า ผู้ประกอบการเรือประมงได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลมีนโยบายจะนำเรือออกนอกระบบตั้งแต่ปี 2558 จนปัจจุบันรวม 4 ปี ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้น ในวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2562 จะส่งผู้แทนมาขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะต่อ สน. นางเลิ้ง เมื่อได้รับอนุญาตจะมีผู้ประกอบการเรือ 489 ลำ ไปชุมนุมหน้ากระทรวงเกษตรฯ ในช่วงบ่าย จากนั้นจะเดินทางไปหน้าทำเนียบรัฐบาล คาดว่าจะมีผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 300 คน ในครั้งนี้จะเตรียมอาหารและที่นอนมาด้วย เพื่อมาฟังคำตอบว่าจะนำเรื่องการช่วยเหลือชาวประมงเข้าสู่การประชุม ครม.วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์หรือไม่ หากยังไม่นำเข้าสู่วาระการประชุม ครม. ในสัปดาห์นี้การชุมนุมจะยืดเยื้อแน่นอน
นายสุรเดช ยืนยันว่าจำนวนเรือที่ต้องได้รับค่าชดเชยจากภาครัฐ 489 ลำ มูลค่า 600 ล้านบาท โดยเป็นเรือที่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่เรือเถื่อนหรือเป็นเรือติดคดี โดยกลุ่มเรือ 489 ลำมีเรืออยู่ระหว่างประเภทการใช้เครื่องมือ เปลี่ยนประเภทระหว่างเรือประมงไปบรรทุกสินค้า หรือเรือท่องเที่ยวซึ่งกรมเจ้าท่าได้ทาสีขาวแดงไว้เช่นกัน ทั้งนี้ เจ้าของเรือประมงยอมรับการประเมินมูลค่าเรือตามสภาพเรือ ซึ่งคณะทำงานฯ ประเมินมาเหลือร้อยละ 50 ประมาณตันละกว่า 40,000 บาท
“ไม่เข้าใจเหตุใดจึงล่าช้า ทั้งที่ควรดำเนินการเสร็จตั้งแต่ต้นปี 2561 ขณะนี้ใกล้เลือกตั้งใหม่ จึงกังวลว่าหากเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จากที่ตรวจสภาพเรือไปครบทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล เพื่อประเมินราคาเรียบร้อยแล้วจะต้องกลับไปนับ 1 ใหม่อีกหรือไม่ อีกทั้งไม่แน่ใจว่ารัฐบาลใหม่จะดำเนินการต่อหรือเปล่า จึงประกาศเป็นสงครามครั้งสุดท้ายที่ชาวประมงจะร่วมใจทวงสัญญาจากภาครัฐ ถ้าไม่ได้จะไม่กลับบ้าน” นายสุรเดช กล่าว .-สำนักข่าวไทย