กรุงเทพฯ 24 ม.ค.- เหตุเครนถล่มระหว่างก่อสร้างคอนโดฯ ย่านพระราม 3 จนมีผู้เสียชีวิต 5 ราย วานนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เกิดเหตุลักษณะเช่นนี้อย่างน้อย 3 ครั้ง ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงมาตรการควบคุม กำกับดูแล ว่าใครควรมีหน้าที่รับผิดชอบ
วินาทีที่ชี้ชะตาชีวิตของคนงานที่ติดอยู่บนยอดเครนสูงเสียดฟ้าย่านพระราม 3 หลังเครนถล่ม ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก หากย้อนไปในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา อุบัติเหตุลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างน้อยถึง 3 ครั้ง เดือนกันยายนเกิดเหตุเครนล้มทับเสาไฟฟ้า-รถยนต์ย่านศาลาแดง มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย ผ่านไปไม่ถึงเดือน ตุลาคมเกิดเหตุซ้ำอีก เครนล้มใส่ป้ายโฆษณาย่านพระราม 9 บาดเจ็บ 2 ราย ล่าสุดวานนี้ เครนถล่มระหว่างก่อสร้างคอนโดฯ มีผู้เสียชีวิตถึง 5 ราย
แม้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ควบคุมนักวิศวกรโดยตรง ลงพื้นที่ตรวจสอบสาเหตุที่เกิดขึ้น แต่ทำได้เพียงสันนิษฐานสาเหตุเบื้องต้นว่า เกิดจากความบกพร่องในการทำหน้าที่ของวิศวกร โดยการก่อสร้างอาคารสูง ตามหลักการแล้วต้องมีวิศวกร 2 ส่วน คือ วิศวกรโยธา ผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้าง กับวิศวกรเครื่องกล ผู้ชำนาญการติดตั้งเครน ซึ่งต้องขอเวลาตรวจสอบข้อมูล ก่อนพิจารณาโทษ คาดไม่เกิน 3 เดือน โทษสูงสุดคือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม
ข้อมูลจากสำนักการโยธา กทม. ระบุขณะนี้มีอาคารสูงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 154 อาคารทั่วกรุง ซึ่งอาคารย่านพระราม 3 ที่เกิดเหตุเครนถล่ม ขออนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ 35 ชั้น เมื่อเดือนเมษายน ปี 61 ผู้อำนวยการเขตยานนาวา ยอมรับการติดตั้งเครนเป็นเพียงอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้าง ไม่ใช่ตัวอาคาร จึงไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ทำได้เพียงสั่งระงับการก่อสร้าง
เหตุเครนถล่มล้มทับผู้คนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย หัวหอกหลักในการตีความข้อกฎหมาย ต้องกลับมาถกกันใหม่ว่า การติดตั้งเครนควรมีกฎระเบียบ ข้อบังคับหรือไม่ เพื่อมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่ หรือทำได้เพียงแจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับเหมา หลังเกิดความสูญเสีย เปรียบเสมือนสุภาษิตที่ว่า “วัวหายล้อมคอก”.-สำนักข่าวไทย