กรุงเทพฯ 23 ม.ค.- วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุเครนถล่มทับคนงาน ระบุเป็นการพังถล่มลงมาของทาวเวอร์เครน คาดอาจพังถล่มเนื่องจากรับน้ำหนักไม่ไหว ขณะเพิ่มความสูงด้วยการต่อเครนท่อนสุดท้ายและปิดฝาบนตัวเครนแรงเกินไป
ศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. นำผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธาเข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุทาวเวอร์เครนขนาดใหญ่ที่พังถล่มทับคนงาน ขณะกำลังก่อสร้างคอนโดมิเนียมย่านพระราม 3 จากการตรวจสอบพบว่า เป็นการพังถล่มลงมาของทาวเวอร์เครน ชนิดที่เรียกว่า เครนคอห่าน หรือ Gooseneck ซึ่งเป็นเครนที่ถือว่ามีความแข็งแรงมากกว่าเครนปกติ ส่วนอาคารที่กำลังก่อสร้าง หลังจากนี้เจ้าของโครงการต้องให้วิศวกรที่เชี่ยวชาญตรวจสอบอีกครั้งว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด
อย่างไรก็ตาม จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดกับเครนทั้งหมด มักเกิดขึ้นในช่วงของขั้นตอนการติดตั้งถึงร้อยละ 95 แต่กลับไม่มีกฎหมายควบคุมบังคับให้มีวิศวกรคอยควบคุมขณะกำลังติดตั้ง ซึ่งต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ขณะนี้ วสท.กำลังเร่งรณรงค์และเปิดอบรมวิศวกร ให้มีความเชี่ยวชาญในการติดตั้งเครนให้มากขึ้น
ด้านนายหฤษฎ์ ศรีนุกูล อนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้ว และปั้นจั่นไทย วสท. ระบุว่าจากการตรวจสภาพที่เกิดเหตุ สันนิษฐานว่าเครนพังถล่มขณะกำลังจะเสร็จงาน โดยอยู่ในช่วงของการเพิ่มความสูงด้วยการต่อเครนท่อนสุดท้ายและปิดฝาบนตัวเครน ซึ่งเข้าใจว่าคนงานอาจปิดฝาด้วยความแรงเกินกว่าที่ตัวเครนจะรับน้ำหนักได้ ทำให้เครนเกิดหงายหลังแล้วพังถล่มลงมา.-สำนักข่าวไทย