สธ.3ม.ค.-กรมสุขภาพจิต แนะประชาชนพื้นที่เสี่ยง ‘พายุปาบึก’เตรียม พร้อมรับมือ โดยให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการเป็นหลัก-ตั้งสติอย่าตกใจ-จัดเตรียมยาประจำตัวไว้ และจดเบอร์ฉุกเฉินไว้กรณีต้องโทรขอรับความช่วยเหลือ
วันนี้ (3 ม.ค.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีพายุปาบึก ที่กำลังจะเคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณรอยต่อระหว่างจังหวัดชุมพรและสุราษฎร์ธานี ในช่วงค่ำของวันที่4 ม.ค.2562 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ภาคใต้ในช่วงระหว่างวันที่3-5 ม.ค.2562 ตามประกาศเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยา ว่า กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุ จะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจประชาชน ส่วนใหญ่อาจเกิดสภาวะเครียด วิตกกังวล วิธีการป้องกันผลกระทบดังกล่าวที่ดีที่สุด คือการเตรียมความพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้าทั้งตนเองและครอบครัวจะช่วยลดความสูญเสียต่างๆได้มาก โดยขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุในครั้งนี้ อย่าตื่นตระหนก แต่ขอให้ตั้งสติพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยขอให้ประชาชนปฎิบัติ 4 ประการดังนี้
1. ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสเสี่ยงภัยพิบัติจากพายุ ติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากทางราชการเป็นหลัก ระมัดระวังข่าวปลอมที่อาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนก เพื่อลดความวิตกกังวล และวางแผนรับมือได้อย่างเหมาะสม
2. ให้ตั้งสติ อย่าตกใจ และให้คิดถึงความปลอดภัยของชีวิตและคนในครอบครัวไว้ก่อน เนื่องจากเป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อย แก้ไปทีละข้อ จัดเตรียมสำรองเทียนไข ไฟฉาย อาหารแห้ง และน้ำดื่มให้เพียงพออย่างน้อย 3 วัน กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และวางแผนการขนย้ายผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือได้น้อย เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมทั้งสิ่งของจากบ้านเรือนไว้ให้พร้อม การวางแผนโดยมีสตินั้นจะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้มาก และผลกระทบด้านจิตใจจะลดน้อยลง
3. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรค ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว เพื่อหยิบง่ายในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ควรระมัดระวังการขาดยา เพราะอาจทำให้อาการจะกำเริบระหว่างที่รับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ แนะนำให้ครอบครัวผู้ป่วยช่วยตรวจสอบจำนวนยา หากพบยาใกล้หมด หรือยากินสูญหาย อาจไม่ต้องรอให้มีอาการป่วยก่อน ควรรีบแจ้งสถานพยาบาลหรืออสม.ที่อยู่ใกล้บ้าน โดยการได้รับยาต่อเนื่องจะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการให้เป็นปกติได้ ซึ่งหากปล่อยให้อาการกำเริบบ่อยๆ อาจส่งผลเสียเกิดอาการทางจิตรุนแรงขึ้นได้ และการรักษาจะยุ่งยากขึ้นในภายหลัง
4. ควรจดเบอร์ฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยไว้ติดตัว ได้แก่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323, สายด่วนกู้ชีพ 1669, สายด่วนนิรภัย 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสามารถโทรขอรับความช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดภาวะจำเป็นเร่งด่วน
สำหรับการเตรียมความพร้อมให้การดูแลจิตใจประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ทางกรมสุขภาพจิตได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้เตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team ;MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็น พร้อมปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับทีมสุขภาพจิต เอ็มแคทของสถานพยาบาลในเขตสุขภาพ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเวชภัณฑ์ยารักษา และการเยียวยาด้านอารมณ์จิตใจ สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเครือข่ายของโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด .-สำนักข่าวไทย