เมืองทองธานี 27 ธ.ค. – “ศุภชัย” อดีตประธาน กกต. เข้ารอบคัดเลือก ส.ว. 200 คน เผยเข้ามาเพราะอยากทดสอบการบังคับใช้ กม. ระบุ หากเป็น ส.ว. พร้อมใช้ประสบการณ์ทำงาน ขณะเดียวกัน มีผู้สมัครโวย หนังสือแนะนำตัวรูปไม่ชัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเปิดการลงคะแนนเลือก ส.ว.ระดับประเทศ วันนี้ (27 ธ.ค.) เจ้าหน้าที่แต่ละจุดได้จัดให้ผู้สมัครเข้าคูหาลงคะแนนของแต่ละกลุ่ม โดยการลงคะแนนแต่ละกลุ่มใช้เวลา 30-60 นาที แล้วแต่จำนวนของผู้สมัคร และเจ้าหน้าที่ได้เริ่มนับคะแนนทันที หลังปิดรับการลงคะแนน โดยกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นกลุ่มแรกที่ลงคะแนนเสร็จ ปรากฏว่ามีผู้ได้รับเลือกในลำดับที่ 10 ซึ่งเป็นลำดับสุดท้าย ได้คะแนนเท่ากัน จึงต้องมีการจับฉลาก โดยเป็นการจับฉลากกันเองของผู้สมัครที่ได้คะแนนเท่ากัน
นอกจากนี้ ยังพบว่า เกือบทุกกลุ่มจะต้องมีการจับสลาก บางกลุ่มต้องจับฉลากผู้ที่จะได้คัดเลือกเป็น ส.ว. ถึง 5 ลำดับ โดยกลุ่มใดที่เจ้าหน้าที่ประกาศผู้ได้รับเลือกทั้ง 10 อันดับแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะอนุญาตให้ผู้สมัครกลับบ้านได้
นายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้รับเลือกมาเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ขอบคุณผู้สมัครกลุ่มที่ 2 ที่เลือกตัวเอง และว่า ไม่ได้คาดหวังอะไร เพียงต้องการมาทดสอบระบบการบังคับใช้กฎหมาย จากนี้ ทั้งหมดเป็นดุลยพินิจของ คสช. ไม่ขอก้าวก่าย หากได้รับเลือก ก็จะใช้ประสบการณ์ในฐานะอดีตประธาน กกต. ในการทำงาน และยังไม่ได้มองไปไกลถึงขั้นเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะยังไม่ทราบว่าตัวเองจะได้รับเลือกจาก คสช. หรือไม่ และเห็นว่า การให้ลงคะแนนเลือกกันเอง 2 คน ถ้าไม่ใช่เป็นบทเฉพาะกาล คงต้องแก้ไข แต่ในอนาคตที่กฎหมายกำหนดให้เป็นการเลือกไขว้น่าจะดีกว่า
ขณะที่ นายธนา เบญจาทิกุล อดีตทนายความส่วนตัวนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. สายสมัครด้วยตนเอง กลุ่มที่ 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยวิธีการจับฉลากเลือกกันเอง เนื่องจากเป็นผู้ได้รับคะแนนลำดับท้าย ที่มีผู้สมัครอื่นได้คะแนนเท่ากัน กล่าวว่า การที่กฎหมายให้ผู้สมัคร ส.ว.เลือกกันเอง ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยทางหนึ่งอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับเลือกแล้วก็ยังต้องไปลุ้นว่า จะได้รับเลือกจาก คสช. หรือไม่ อย่างไรก็ตาม มองว่า คสช.ไม่จำเป็นต้องเลือก ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มของแต่ละสายไปอยู่ในบัญชี 50 คน แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ คสช.
ด้าน พ.ต.ท.อัศวิน ณรงค์พันธ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 4 (ผบช.ภาค 4) และอดีตที่ปรึกษานายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธาน กกต. กล่าวว่า สาเหตุที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มที่ 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อาจเป็นเพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 จึงทำให้เป็นที่รู้จักของหลายคน อย่างไรก็ตาม การมาสมัครครั้งนี้ มาสมัครด้วยตนเอง ไม่มีใครทาบทามมาเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้รู้จักกับบุคคลใน คสช.
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ไม่ได้คาดหวังเรื่องที่ คสช. จะเลือกให้เป็น 1 ใน 50 คนหรือไม่ การเลือกของ คสช. คงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา และว่า การเลือก ส.ว.ในครั้งนี้ เป็นการเลือกกันเอง ทำให้มีการพึ่งพากันได้ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเป็นการเลือกไขว้กลุ่ม การพึ่งพากันจะทำได้ลำบาก อีกทั้ง จะไม่มีองค์กรเสนอชื่อ และคิดว่า การเลือกในอนาคตจะมีคนสมัครเป็นหมื่นๆ คน
ขณะที่ นายกำธร เหล่าสะพาน ผู้สมัคร ส.ว.กลุ่ม 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ในการเลือกของกลุ่ม ตนได้เพียงแค่ 1 คะแนนเท่านั้น และเตรียมร้องศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (ส.ว. 18) ที่ กกต.จัดทำ และแจกให้ผู้สมัคร เพื่อใช้ในการดูรายละเอียดของผู้สมัคร กลับพบว่ารูปถ่ายไม่ชัดเจน ขณะที่รูปถ่ายคนอื่นๆ ชัดกว่า จึงอาจจะเป็นไปได้ว่าทำให้ไม่ได้รับคะแนนในการเลือกครั้งนี้ เบื้องต้นได้ยื่นเรื่องดังกล่าวต่อ กกต.มหาสารคาม แล้ว เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ที่ผ่านมา เพื่อขอให้เลื่อนการเลือก ส.ว.ครั้งนี้ไปก่อน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจาก กกต. .- สำนักข่าวไทย