กรุงเทพฯ 5 ธ.ค.- กระทรวงเกษตรฯจัดงาน 5 ธันวาคม วันดินโลก ปี 2561 (World Soil day 2018 ) “Be the Solution to Soil Pollution : ร่วมคิดร่วมทำแต่วันนี้ เพื่อปฐพีไร้มลพิษ” ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดปทุมธานี
นายกฤษฏา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ตามที่สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ หรือ IUSS ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม” (The Humanitarian Soil Scientist) ตั้งแต่พ.ศ. 2556 แด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เป็นพระองค์แรกของโลกและองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพเป็นวันดินโลก โดยประเทศสมาชิกทุกประเทศทั่วโลกพร้อมใจกันจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดินของแต่ละประเทศในวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปีเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณและเผยแพร่พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาทรัพยากรดินของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่นานาชาติทั่วโลกต่างยอมรับและน้อมนำไปขยายผลปฏิบัติอย่างแพร่หลายนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดงาน 5 ธันวาคม วันดินโลก ปี 2561 อย่างยิ่งใหญ่ (World Soil day 2018 ) “Be the Solution to Soil Pollution : ร่วมคิดร่วมทำแต่วันนี้ เพื่อปฐพีไร้มลพิษ” ระหว่างวันที่ 5 – 7 ธันวาคม 2561 ณ พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จังหวัดปทุมธานี
การจัดงานปีนี้เป็นครั้งแรกที่มีการมอบรางวัล “วันดินโลก World Soil day Award” พร้อมเปิดนิทรรศการวันดินโลก “น้อมนำศาสตร์พระราชา พัฒนาที่ดินอย่างยั่งยืน คืนชีวิตให้แก่ดิน คืนความสุข ให้แก่เรา” นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ “Sufficiency Economy philosophy : Path to SDGs” โดย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ Prof. Wolfgang Drechsler นักวิชาการด้าน Public Administration and Management และ Innovation Political Philosophy
“การจัดงานวันดินโลกเป็นโอกาสอันดีที่จะสื่อสารให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของดินต่อการดำรงชีพของมวลมนุษยชาติ ได้มีความรู้ ความเข้าใจในการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ถูกต้อง และจัดการดินให้เหมาะสมสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอยืนยันเจตนารมณ์ที่จะสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยน้อมนำพระราชดำรัส แนวพระราชดำริไปดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดการรักษาและใช้ประโยชน์ทรัพยากรดินและน้ำตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาการเกษตรของไทยและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้เกิดความมั่นคงในอาชีพและรายได้ สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีเกียรติและมีความสุขตามพระราชปณิธานของพระองค์สืบไป” นายกฤษฎากล่าว
นายโรนัลด์ วากัส ผู้เชี่ยวชาญด้านดินและที่ดินจาก FAO เลขาธิการประเทศสมาชิกภาคีดินโลกกล่าวว่า จะมีการสรุปแนวทางการทำงานเพื่อเดินหน้ากิจกรรมของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการศึกษาวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชียอย่างเป็นทางการในเวทีประชุมสมัชชาภาคีดินแห่งภูมิภาคเอเชียในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 ที่กรุงนิวเดลีประเทศอินเดียต่อไป
สำหรับงานวันดินโลกปี 2561 มีพิธีมอบรางวัล วันดินโลก (World Soil Day Award) ให้แก่ผู้ที่มีผลงานและกิจกรรมที่เป็นประจักษ์ในการส่งเสริมและสร้างความตระหนักด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อความมั่นคงอาหารโลกอย่างยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมผลักดันวันดินโลก ร่วมกับสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทยและ FAO จนประสบความสำเร็จ นับเป็นปีแรกที่มีการมอบรางวัลดังกล่าว โดยผู้ได้รับรางวัลคือ องค์กร Practical Action จากบังคลาเทศ ซึ่งทำงานด้านการดูแลปัญหาดินเค็มในพื้นที่สูงและพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ประสบปัญหาดินเค็มและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง องค์กรเอกชนดังกล่าวได้รับการคัดเลือกจากผู้เข้าชิงรางวัล 39 ราย รวมทั้งสองหน่วยงานประเทศไทยคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับการจัดนิทรรศการดินดี โดยใช้เทคโนโลยีการแสดงภาพ แสง สี เสียง เต็มรูปแบบ นำเสนอแนวคิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยแพร่ความรู้ทางด้านดินให้เห็นภาพอย่างชัดเจน และ ศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรม เขาชะงุ้มจากการจัดงานวันดินโลกประจำปี 2560 ในหัวข้อ “รักษ์โลก เริ่มจากรักษ์ดิน สู่ความยั่งยืน” กิจกรรมประกอบด้วย การจัดนิทรรศการและการให้โซเชียลมีเดียเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม
นายจง จิน คิม รองผู้แทนระหว่างประเทศ FAO สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกกล่าวว่า หนึ่งในสามของดินทั่วโลกมีสภาพเสื่อมโทรม ส่วนที่เหลือกำลังเผชิญกับภาวะเสื่อมโทรมในระดับน่าห่วงใย ปัญหามลภาวะเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่กำลังคุมคามสภาวะดิน ขยะจำนวนมากที่มาจากการเติบโตของชุมชนเมือง ถูกนำไปทิ้งใต้ผืนดินโดยไม่ได้รับการจัดการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ทั้งนี้การป้องกันมลภาวะปนเปื้อนในผืนดินเป็นปัญหาหลักที่ทั่วโลกต้องรีบแก้ไข โดยให้การศึกษาและความตระหนักรู้เพื่อดินที่ดีและอาหารที่ปลอดภัยของประชากรโลก ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 15 และเป้าหมายที่ 2 รวมทั้งขจัดความหิวโหย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งทูตพิเศษผู้ขจัดความหิวโหยทั้งในไทยและภูมิภาค. – สำนักข่าวไทย