กทม. 28 พ.ย.-วันนี้จะพาไปดูบรรยากาศคลองโอ่งอ่าง หลังรื้อตลาดสะพานเหล็ก และปรับภูมิทัศน์มาตั้งแต่ปลายปี 58 ผ่านมา 3 ปี แม้การปรับภูมิทัศน์จะทำให้คลองสะอาด มีทัศนียภาพที่สวยงาม ร่มรื่นมากขึ้น แต่ยังเงียบเหงาไร้นักท่องเที่ยว กทม. จะพัฒนายกระดับคลองให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ได้ตามแผนเมื่อใด
นี่คือสภาพปัจจุบันของคลองโอ่งอ่าง หลังปรับภูมิทัศน์ จนแทบไม่เหลือสภาพเดิมที่แออัดไปด้วยร้านค้าย่านสะพานเหล็ก รุกล้ำแนวคลองโอ่งอ่าง บดบังทัศนียภาพมานานกว่า 30 ปี เมื่อ กทม. เข้ามาจัดระเบียบรื้อโครงสร้างเหล็กออกตั้งแต่ปลายปี 58 ผ่านมาร่วม 3 ปี เผยให้เห็นความโล่งสะอาด จากน้ำที่เน่าเสียคืนความสดใส ติดตั้งเสาไฟ ราวกันตก ถนนปูด้วยอิฐมอญ เช่นเดียวกับตัวตลิ่ง ปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น รวมงบกว่า 275 ล้านบาท หวังให้คลองโอ่งอ่างเป็นพื้นที่สาธารณะและแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ความยาวคลองร่วม 2 กิโลเมตร ติดต่อกัน 3 เขต คือเขตพระนคร สัมพันธวงศ์ และป้อมปราบศัตรูพ่าย
ทีมข่าวลงพื้นที่สังเกตว่าชาวบ้านริมสองฝั่งคลองเริ่มปรับตัวรับแผนพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำหน้าบ้านหันเข้าคลอง แต่มีเสียงสะท้อนให้ กทม. เข้ามาจัดกิจกรรมต่อเนื่อง เพราะบรรยากาศตอนนี้ราวกับไร้ชีวิต ไร้ผู้คน ส่งผลต่อการค้าซบเซาหนัก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม กทม. เผยหลังปรับภูมิทัศน์เสร็จสมบูรณ์ ราวเดือนมิถุนายน 62 จะมีกิจกรรมหลากหลายเพิ่มขึ้น พร้อมตั้งคณะทำงานร่วมส่งเสริมพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยประชาชนร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพื่อกำหนดทิศทางให้ตรงกับความต้องการ แต่การพัฒนาเทียบเคียงคลองชองกเยซอน ใจกลางกรุงโซล คงคนละรูปแบบ เนื่องจากต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมของคลองโอ่งอ่างเป็นหลัก หากแล้วเสร็จตามแผน การพัฒนาให้ผู้คนมาท่องเที่ยวคงไม่ยากนัก เนื่องจากคลองโอ่งอ่างใกล้ย่านเมืองเก่าสำคัญๆ ทั้งเยาวราช ตลาดสำเพ็ง ปากคลองตลาด ถนนเจริญกรุง แถมการเดินทางสะดวกมากขึ้น หากสถานีรถไฟใต้ดินสามยอด หรือวังบูรพา เปิดให้บริการกลางปี 62
อนาคต กทม. มีแผนนำเรือไม้ หรือเรืออีแปะ ติดเครื่องยนต์ 4 ลำ มาให้บริการนำชมวิถีริมสองฝั่งคลองโอ่งอ่าง ชมความงดงามของสถาปัตยกรรม วิถีชุมชนคนฝั่งคลอง และผ่านหลายวัดสำคัญ รวมถึงป้อมมหากาฬ และจะทยอยพัฒนาคลองทั่ว กทม. ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น น้ำไม่เน่าเสีย ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร มีที่ท่องเที่ยวทางน้ำใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย