สำนักข่าวไทย 5 พ.ย.-รมช.ศึกษาฯ ชี้ ป.ป.ช.มองด้านเดียว กฎหมายให้นายกสภามหาวิทยาลัย-กรรมการสภา-อธิการบดี แจงบัญชีทรัพย์สิน ส่งผลกระทบหนัก หวั่นสภามหาวิทยาลัยไม่มีคนทำงาน เพราะกรรมการสภาเริ่มทยอยลาออก ทำหนังสือขอให้ ป.ป.ช.ทบทวนแล้ว
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงกรณีประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เรื่องกําหนดตําแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจาบุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยประกาศดังกล่าวกำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) แจงหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้น ว่า ขณะนี้มีนายกสภาหลายแห่งโทรศัพท์เข้ามาปรึกษา เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะขณะนี้มีกรรมการสภาหลายแห่งเริ่มทยอยลาออก ทำให้สภาเองเกิดความกังวล หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ สภาจะเกิดสุญญากาศไม่สามารถอนุมัติเรื่องสำคัญๆ ได้ เพราะองค์ประกอบสภาไม่ครบ ดังนั้น จึงได้หารือกับนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)ให้ทำหนังสือถึง ป.ป.ช.เพื่อขอให้แก้ไขกฎหมายดังกล่าว
นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาโดยมองด้านเดียว ไม่ได้สอบถามความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ต่อไปอาจทำให้ไม่มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยแนะนำหรือให้ข้อคิดเห็นในเรื่องการพัฒนาการศึกษา เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิตได้ตรงตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และความต้องการของประเทศ
ขณะที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีนี้ ว่า ทราบข่าวว่าขณะนี้เกิดผลกระทบในหลายมหาวิทยาลัย ซึ่งถ้ามีการลาออกก็จะทำให้การทำงานในสภามหาวิทยาลัยยากลำบากมากขึ้นหรืออาจจะทำให้การบริหารมหาวิทยาลัยสะดุด แต่ถึงอย่างไรก็ต้องว่าไปตามระเบียบ แต่ทั้งนี้ ก็ห่วงใย และ นพ.อุดม ก็ได้ทำหนังสือขอความกรุณาให้ ป.ป.ช.ทบทวนกฎหมายอีกครั้งแล้ว .-สำนักข่าวไทย