สมุทรปราการ 26 ต.ค. – กระทรวงคมนาคมจับมือกระทรวงพลังงานส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลบี 20 นำร่องทดลองรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. และ บขส. คาดมีปริมาณการใช้รวม 31,500 ลิตรต่อเดือน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดโครงการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี 20 สำหรับรถโดยสารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ที่อู่ ขสมก.เมกาบางนา โดยจะนำร่องทดลองในรถโดยสารธรรมดาของ ขสมก. สาย 145 อู่เมกาบางนา ถึงอู่หมอชิต 2 จำนวน 5 คัน ประมาณการใช้น้ำมัน 400 ลิตรต่อวัน หรือ 12,000 ลิตรต่อเดือน และจะมีรถคู่เทียบในรุ่นเดียวกันที่ใช้บี 7 อีก 5 คัน เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องยนต์ และผลกระทบที่มีต่อเครื่องยนต์ สิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ เพื่อขยายการใช้งานในรถ ขสมก.ให้ครอบคลุมต่อไป
นอกจากนี้ จะนำไปใช้ในรถโดยสาร บขส. 3 คัน เส้นทางกรุงเทพฯ-กำแพงเพชร , กรุงเทพ-บุรีรัมย์ และกรุงเทพฯ-สระบุรี ซึ่งมีปริมาณการใช้บี 20 อยู่ที่ 19,500 ลิตรต่อเดือน ทำให้รวมปริมาณการใช้บี 20 ของทั้ง 2 หน่วยงานอยู่ที่ 31,500 ลิตรต่อเดือน โดย บขส.ได้จัดเตรียมจุดตั้งถังน้ำมันที่สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ หรือหมอชิต 2 ทั้งนี้ จะทดลองเป็นระยะเวลา 1 เดือน ก่อนขยายการใช้เต็มรูปแบบในระยะเวลา 1 ปี
ส่วนราคาน้ำมันดีเซลบี 20 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้รับเงินจากกองทุนน้ำมันอุดหนุนส่วนต่าง ทำให้มีส่วนลดราคาลิตรละ 3 บาท ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบราคาค่าโดยสาร ค่าบริการขนส่ง และค่าครองชีพของประชาชน นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างเสถียรภาพของราคาปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรปาล์มน้ำมันและลดมลภาวะทางอากาศด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการใช้น้ำมันดีเซลบี 7 กับรถเฉพาะกลุ่ม คือ กลุ่มรถบรรทุก รถโดยสาร และเรือโดยสาร ทั้งนี้ คาดว่าหากเพิ่มเป็นน้ำมันดีเซลบี 20 จะสามารถเพิ่มสัดส่วนปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้นจากปัจจุบัน 1.3 ล้านตันต่อปี เป็น 1.7 ล้านตันต่อปีในปีนี้ และจะสามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินได้ 300,000-400,000 ตันต่อปี
รมว.พลังงาน กล่าวถึงแนวทางชดเชยราคาน้ำมันให้แก่มอเตอร์ไซค์รับจ้างว่า จากข้อมูลพบว่าส่วนกลางและภูมิภาคมีผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง 190,000 คน ในจำนวนดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์เป็นผู้มีรายได้น้อยถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 40,000 ราย การให้ส่วนลดจะสามารถดำเนินการได้กลางเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจ่ายชดเชยผ่านบัตรสวัสการรายละ 450 บาทต่อเดือน ช่วง 3-6 เดือนแรกบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับภาระต้นทุนดังกล่าวจนกว่า พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ หลังจากนั้นกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ จะรับภาระ 2 บาทต่อลิตร และอีก 1 บาทให้ผู้ค้ามาตรา 7 ช่วยรับภาระ.-สำนักข่าวไทย