จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 28 ก.ย.-กลุ่มนักวิชาการ เรียกร้องรัฐบาลแสดงความชัดเจน แก้ปัญหากัญชาและกระท่อม ทั้งปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5หรือใช้ ม.44 ห่วงอนาคตไทยนำเข้ายาที่ทำจากกระท่อม กัญชา ทำให้เสียโอกาส ลดการนำเข้ายาต่างประเทศ ทั้งเป็นสมุนไพรในประเทศ อีกทั้งแต่ละปีไทยต้องนำเข้ามอร์ฟีนและเมทาโดนหลายล้านบาท
ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา(กพย.) และภญ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุข กับการพัฒนา (มสพ.)กล่าวภายหลังการประชุมสนทนานักข่าวเพื่อสร้างความเข้าใจสถานการณ์ของพืชกัญชาและกระท่อมสู่สังคม ว่า ปัญหากัญชาและกระท่อมยังคงเป็นที่ถกเถียงในสังคม จึงอยากให้รัฐบาลและแสดงเจตจำนงและความจริงจังในเรื่องนี้ เพราะกัญชาและกระท่อม ถือเป็นพืชสมุนไพรไทยในอดีตที่มีการใช้อย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ จนกระทั่งปี2486 รัฐบาลต้องการรีดภาษีฝิ่นจึงนำเอากัญชาและกระท่อมไปอยู่ในกลุ่มยาเสพติด และเมื่อปี2522 ทำให้กัญชาและกระท่อม ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติด ประเภท 5 ห้ามปลูก ห้ามเสพ ห้ามซื้อ แค่ทำให้ดูได้อย่างเดียว ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ถือเป็นการริดรอนสิทธิการรักษาในแผนแพทย์ไทย
ภญ.นิตยา กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลยังกังวลและลังเลว่าจะใช้ประโยชน์จากการกัญชาและกระท่อม หรือไม่ การศึกษาหรือการถกเถียงเพื่อปลดล็อก สมุนไพร 2 ชนิด ออกจากบัญชียาเสพติดไม่คืบหน้า ทั้งที่มีงานวิจัยต่างประเทศรองรับถึงประโยชน์ และต้องการแค่ปลดล็อก เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาวิจัย และทางการแพทย์เท่านั้น จึงเห็นว่าควรปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติด ประเภท 5 หรือ ในระยะสั้นใช้ ม.44 มาแก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่ชัดเจน ไม่เข้าใจผู้มีอำนาจต้องการอะไร และห่วงในอนาคตไทย อาจเสียเปรียบต้องนำเข้ายาสมุนไพรไทย 2 ชนิด จากต่างประเทศ เพราะปัจจุบัน ทั้งกัญชา และกระท่อม อยู่ในกลุ่มยาแก้ปวด ขณะนี้ที่ไทยเองต้องมีการสั่งซื้อ มอร์ฟีน และนำเข้าเมทาโดน ใช้ในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด มาจากต่างประเทศ แต่ละปีหลายล้านบาท
ด้าน ภญ.สำลี กล่าวว่า พื้นที่ปลูกกัญชาได้ดีในพื้นที่อีสาน ขณะที่กระท่อม ปลูกได้ดีในภาคใต้ ซึ่งประโยชน์ของกัญชาและกระท่อมไม่แตกต่างกัน ใช้บรรเทาอาการปวด ซึ่งการพูดถึงประโยชน์ของกัญชาอย่างแพร่หลาย แต่กระท่อมนั้นก็ใช้บรรเทาอาการปวดท้อง แก้ปวดเมื่อน ระงับอาการอักเสบ มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร .-สำนักข่าวไทย