ทำเนียบฯ 24 ส.ค.- รองโฆษกรัฐบาล ยัน ให้สื่อต่างประเทศสัมภาษณ์ 13 หมูป่าก่อน เป็นไปตามขั้นตอน ไม่มีคอรัปชั่น แจงหากสื่อสำนักไหนจะสัมภาษณ์ ต้องยื่นต่อคณะกรรมการ สื่อสร้างสรรค์
พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ สำนักข่าว ABC NEWS ของสหรัฐอเมริกา ลงพื้นที่สัมภาษณ์ 13 ทีมหมูป่าอคาเดมี ในพื้นที่ โดยมีเอกสารแจ้งว่าจะเป็นการบันทึกเทปออกรายการเดินหน้าประเทศไทย ว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการสื่อสร้างสรรค์ กรณีถ้ำหลวง จ.เชียงราย ที่มีนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ก็ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นขั้นตอน ที่มีวัตถุประสงค์ ว่าต้องคำนึงถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจะตรวจสอบภาพลักษณ์ของสถานี กรณี สำนักข่าว ABC NEWS ได้พิจารณา จำนวนผู้รับชม จะรายงานข่าวแบบไหน คำถามอย่างไร และการสัมภาษณ์จะต้องเป็นไปในเนื้อหาไม่มีผลกระทบด้านจิตใจ หรือไม่กระทบภาพลักษณ์ของ 13 หมูป่าอะคาเดมี
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทางสำนักข่าวได้ติดต่อประสานงานผ่านมาทางตน จึงได้ประสานทางวาจา ไปยังรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แจ้งให้ทราบเรื่องการลงไปสัมภาษณ์ และขอให้จัดสหวิชาชีพลงไปด้วย ส่วนที่มีเอกสารว่าเป็นการสัมภาษณ์ในรายการเดินหน้าประเทศไทย อาจเป็นเพราะ ตนเคยลงไปทำรายการเดินหน้าประเทศไทยที่ถ้ำหลวง จึงทำให้ในพื้นที่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เข้าใจผิดในการสื่อสาร ยืนยันว่าไม่มีวัตถุประสงค์แอบอ้างแต่อย่างใด ซึ่งรายการดังกล่าวไม่ได้ออกอากาศในรายการเดินหน้าประเทศไทย
“ทำไมเลือกสำนักข่าวต่างประเทศก่อน ก็เพราะเขาทำเรื่องขอมาก่อน และเป็นสำนักข่าวต่างประเทศที่มีคนดูมาก อีกทั้ง13 หมูป่าอคาเดมี อยากจะสื่อสารเพื่อขอบคุณคนทั่วโลก” พล.ท.วีรชน กล่าว
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้สื่อต่างประเทศได้เข้ามาสัมภาษณ์ ก่อนนั้นไม่ได้มีเรื่องการคอรัปชั่น เข้ามาเกี่ยวข้อง เชื่อว่าคนที่คิดเช่นนั้นมีเจตนาที่ไม่ดี สื่อมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ของเด็ก หากจะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้วยจิตอาสาในแง่ของการบริจาคให้กับ โรงเรียนหรือสังคม ก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล
สำหรับขั้นตอน สื่อไทยและต่างประเทศที่มีความประสงค์ จะขอสัมภาษณ์ ทีมหมูป่าอคาเดมี นั้น พล.ท.วีรชน กล่าวว่า ทำหนังสือมายังคณะกรรมการ เพื่อพิจารณา โดยการส่งคำถาม มีโครงร่างสตอรี่บอร์ด ต้องยึดหลักภาพลักษณ์ที่ดี เผยแพร่วัฒนธรรม และเด็กต้องไม่มีผลกระทบ ซึ่งจะมีนักจิตวิทยาตรวจสอบ อีกครั้ง จากนั้น คณะกรรมการจากกรุงเทพ จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการท้องถิ่น ที่จะพูดคุยกับครอบครัวผู้ปกครอง และหากสื่อไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ก็ต้องยกเลิก
พล.ท.วีรชน กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีสื่อต่างประเทศหลายสำนัก ติดต่อทำเรื่องเข้ามา อาทิ CNN, NBC, NIPON เราก็จะมีคณะกรรมการพิจารณา จัดลำดับอีกครั้ง ตามลำดับ เมื่อถามว่าจะใช้มาตราฐานดังกล่าวเช่นเดียวกับสื่อไทยหรือไม่ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะใช้มาตรฐานเดียวกันทั้งสื่อไทยและต่างประเทศ โดยเชื่อว่า สื่อไทยน่าจะมีความเข้าใจได้ลึกซึ้งกว่า ว่าทุกอย่างต้องเป็นผลดีกับเด็กและประเทศชาติ ขณะเดียวกันจะต้องประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หากขอเข้ามาจำนวนมาก ก็อาจจะพิจารณา ตามความเหมาะสม เพราะ ต้องคำนึงด้วยว่า เด็กต้องเรียนหนังสือ และผู้ปกครองต้องประกอบอาชีพ.-สำนักข่าวไทย