กรุงเทพฯ 21 ส.ค. – กองทุนอ้อยและน้ำตาลเตรียมจ่ายเงินคืนโรงงานน้ำตาล 22,000 ล้านบาท หลังผลประเมินราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดูกาลผลิตปี 60/61 เหลือเพียง 772 บาทต่อตันอ้อย ขณะที่ราคาอ้อยขั้นต้นจ่ายไปถึง 880 บาทต่อตันอ้อย
นายวีระศักดิ์ ขวัญเมือง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวว่า หลังจากชาวไร่อ้อยได้รับเงินค่าอ้อยขั้นต้นฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ไปแล้ว 880 ต่อตันอ้อย โดยโรงงานน้ำตาลจ่ายเงินให้ชาวไร่อ้อยไปแล้วนั้น แต่ผลการประเมินราคาอ้อยขั้นสุดท้ายปีนี้เบื้องต้นพบว่าราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ ส่งผลให้ราคาอ้อยขั้นสุดท้าย ซึ่งจะสรุปเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้ ประเมินว่าจะอยู่ที่ประมาณ 772 บาทเท่านั้น จึงมีส่วนต่างที่โรงงานจ่ายเกินไป 108 บาท ตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้กับโรงงานน้ำตาล ประมาณ 22,000 ล้านบาทนั้น
ขณะนี้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่ระหว่างเตรียมการที่จะจ่ายเงินคืนให้กับโรงงานน้ำตาล โดยใช้เงินจากส่วนต่างจากการขายน้ำตาลในประเทศประมาณ 10,000 ล้านบาท ที่เหลืออีกประมาณ 12,000 ล้านบาท ทางกองทุนฯ มีศักยภาพจ่ายคืนโรงงานน้ำตาลประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 6,000 ล้านบาท นายวีระศักดิ์ ระบุว่า เบื้องต้น คือ ทยอยจ่ายให้โรงงานในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยมีแหล่งเงินรายได้จากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลที่ส่งเข้ากองทุนฯ ซึ่งแนวทางนี้เคยดำเนินการมาแล้วฤดูกาลผลิตปี 2549/2550 ขณะที่โรงงานต้องการให้กองทุนอ้อยฯ กู้เงินมาจ่าย แต่แนวทางดังกล่าวจะขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO)
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเงิน 6,000 ล้านบาทที่ต้องจ่ายให้โรงงานส่วนสุดท้ายนี้ จะต้องนำเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายเป็นผู้พิจารณา ซึ่งอาจจะมีทางออกเหมาะสมกว่าก็ได้ สำหรับคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยฯ ประกอบด้วย ตัวแทนจากฝ่ายราชการ 6 คน ชาวไร่อ้อย และโรงงานฝ่ายละ 3 คน รวมทั้งหมด 12 คน
นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยและหัวหน้าสำนักงานสมาคมชาวไร่อ้อยเขต 7 กล่าวว่า ตามที่กองทุนอ้อยฯ จะต้องจ่ายคืนเงินให้โรงงานน้ำตาล แต่เงินไม่พอ ทางออกหนึ่ง คือ กองทุนฯ ขอผ่อนผันการจ่ายเงินออกไปก่อน ซึ่งเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ เพราะกองทุนฯ มีเงินรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอจากอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายปีละประมาณ 2,000 ล้านบาท ก็ทยอยนำมาจ่ายได้ และถือเป็นเงินรายได้หลักและยังมีรายได้ส่วนอื่น ๆ อีก
อย่างไรก็ตาม ต้องการให้พิจารณาดูแลชาวไร่อ้อยด้วยไม่ใช่เฉพาะโรงงานเท่านั้น เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกขาลง ส่งผลให้คาดการณ์ราคาอ้อยขั้นต้นฤดูการผลิตปี 2561/2562 ที่ชาวไร่อ้อยได้รับ จะเหลือประมาณ 630 บาทต่อตันอ้อยเท่านั้น ลดลงจากฤดูกาลผลิตปี 2560/2561 ที่อยู่ที่ 880 บาทต่อตันอ้อย และฤดูกาลผลิตปี 2559/2560 ที่สูงถึง 1,050 บาทต่อตันอ้อย
“ในช่วงน้ำตาลตลาดโลกขาลงและกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้ การกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นจำเป็นต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น เกษตรกรที่รายได้ลดลงก็สมควรได้รับการดูแลด้วย เพราะหากไม่ระมัดระวังจะเป็นการซ้ำเติมชาวไร่อ้อย แต่การดูแลชาวไร่อ้อยต้องไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ของ WTO ” นายนราธิป กล่าว
สำหรับราคาอ้อยขั้นต้น คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.61 กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 แบ่งเป็น 2 ราคา ตามมติคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ด้วยการกำหนดราคาอ้อยเขต 1, 2, 3, 4, 6, 7 และ 9 ในอัตรา 880 บาทต่อตันอ้อย ณ ระดับความหวาน 10 ซี.ซี.เอส. และกำหนดอัตราขึ้น/ลงของราคาอ้อยเท่ากับ 52.80 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส. ต่อเมตริกตัน ด้านโรงงานได้รับผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิต ปี 2560/2561 เท่ากับ 377.14 บาทต่อตันอ้อย สำหรับราคาอ้อยขั้นต้นในเขต 5 (สุพรรณบุรี) ราคา 830 บาทต่อตันอ้อย กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อยเท่ากับ 49.80 บาท ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส.ต่อเมตริกตัน และผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2560/2561 เท่ากับ 355.71 บาทต่อตันอ้อย.-สำนักข่าวไทย
