กรุงเทพฯ 15 ส.ค.-กฟผ. รับฟังความเห็นประชาชน ครั้งที่ 2 โครงการ FSRU เริ่มวันแรก 16 ส.ค. นี้
ว่าที่ พ.ต.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการชุมชนสัมพันธ์และสิ่งแวดล้อมโครงการ การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. และบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด บริษัทที่ปรึกษาในการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ของโครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพ ก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ (Floating Storage and Regasification Unit : FSRU) เตรียมจัดประชุมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครั้งที่ 2 สำหรับประชาชนในพื้นที่แนวทางเลือกที่มีความเหมาะสมและระยะประชิดของโครงการ ในระหว่างเดือนสิงหาคม – กันยายน 2561 ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาใน จ.สมุทรปราการ จ.สมุทรสาคร จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ชลบุรี โดยเวทีแรกจะเริ่มในวันที่ 16 สิงหาคม 2561 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ และเวทีสุดท้ายคือวันที่ 24 กันยายน 2561 จัดที่สมาคมการประมงสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร
สำหรับการประชุมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 นี้ จะนำผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและข้อห่วงกังวลของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในบริเวณพื้นที่โครงการที่ได้รับจากการประชุมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 มานำเสนอ พร้อมร่างมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการ ในการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ และเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ตามหลักความโปร่งใสและหลักการมีส่วนร่วมที่ กฟผ. ยึดถือและนำมาปฏิบัติเพื่อให้ครอบคลุมทุกข้อห่วงกังวลของ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มของโครงการมากที่สุด
ทั้งนี้ โครงการFSRU บริเวณพื้นที่อ่าวไทยตอนบน เป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดหาเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2559 ได้มอบหมายให้ กฟผ. เป็น ผู้ดำเนินโครงการ รองรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปริมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อจัดส่งให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ จ.สมุทรปราการ และโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ จ.นนทบุรี รวมทั้งจัดส่งเข้าสู่โครงข่ายระบบท่อส่ง ก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน โดยเมื่อประชุมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 แล้วเสร็จ กฟผ. จะนำ ข้อเสนอจัดทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์ และนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเห็นชอบภายในปี 2562 จากนั้นจึงจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างและทดสอบระบบในระหว่างปี 2563 – 2566 ซึ่งตามแผนมีกำหนดแล้วเสร็จสามารถส่งก๊าซธรรมชาติได้ในปี 2567-สำนักข่าวไทย