อสมท 23 ก.ค.-ทนายเผยกรณีเบี้ยวงานแต่ง จะเรียกค่าเสียหายได้ในกรณีมีการหมั้นเท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายจัดงานเลี้ยงไม่สามารถเรียกค่าทดแทนได้ไม่ว่าจะหมั้นหรือไม่ก็ตาม
เพจเฟซบุ๊กสายตรงกฎหมาย โดยทนายรัชพล ศิริสาคร โพสต์ข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีเจ้าบ่าวไม่มาร่วมงานแต่งงาน ในเรื่องข้อกฎหมาย คงเอาเจ้าบ่าวเข้าคุกไม่ได้ เพราะเป็นคดีแพ่ง เป็นเรื่องความสมัครใจ หากจะไปแจ้งความดำเนินคดีคงไม่มีประโยชน์ เพราะไม่มีข้อหาหนีการแต่งงาน ยกเว้นถ้ามีการหลอกเอาทรัพย์สิน ก็อาจจะเป็นการฉ้อโกงได้ ซึ่งต้องดูรายละเอียด ในทางกฎหมาย เมื่อเจ้าบ่าวเบี้ยวงานแต่ง คงต้องดูก่อนว่ามีการหมั้นหรือไม่ หากมีการหมั้นไว้แล้วเจ้าบ่าวเบี้ยว ก็จะเรียกค่าเสียหายได้ เช่น
• ค่าเสียหายต่อกายหรือชื่อเสียงแห่งชายหรือหญิงนั้น
• ค่าเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้น บิดามารดา หรือบุคคลผู้กระทำการในฐานะเช่นบิดามารดาได้ใช้จ่ายหรือต้องตกเป็นลูกหนี้เนื่องในการเตรียมการสมรสโดยสุจริตและตามสมควร
• ค่าเสียหายเนื่องจากการที่คู่หมั้นได้จัดการทรัพย์สินหรือการอื่นอันเกี่ยวแก่อาชีพหรือทางทำมาหาได้ของตนไปโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส
• และหากมีการหมั้น แล้วฝ่ายชายไปมีเพศสัมพันธ์กับคนอื่น โดยที่คนอื่นก็รู้ว่าฝ่ายชายหมั้นแล้ว ก็เรียกค่าเสียหายจากหญิงอื่นได้
• แต่ถ้าไม่มีการหมั้น คงทำไรไม่ได้เลย ส่วนจะไปบังคับให้มาแต่งงานไม่สามารถทำได้ เพราะการแต่งงานจะต้องยินยอมกันทั้ง 2 ฝ่าย
ทนายเกิดผล แก้วเกิด เผยการหมั้น เป็นสัญญาอย่างหนึ่งที่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงตกลงกันว่าชายและหญิงคู่หมั้นจะทำการสมรสกันในอนาคต สัญญาหมั้นไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีให้อีกฝ่ายหนึ่งทำการสมรสได้ ถึงแม้ว่าจะมีข้อตกลงในเรื่องเบี้ยปรับกันเอาไว้ ข้อตกลงนั้นก็เป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ส่วนของหมั้นจะเป็นอะไรก็ได้ เพราะของหมั้น คือ ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายได้ให้ไว้แก่ฝ่ายหญิงในขณะทำการหมั้นเพื่อเป็นหลักฐานการหมั้น และประกันว่าจะสมรสกับหญิง และถ้าหมั้นแล้ว ต่อมา ถ้าชายหรือหญิงคู่หมั้น ไม่ยอมทำการสมรสกับคู่หมั้นของตนโดยปราศจากมูลเหตุอันจะอ้างกฎหมายได้ถือว่าคู่หมั้นฝ่ายนั้นผิดสัญญาหมั้น สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้
ส่วนกรณีไม่มีการหมั้น!
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 45/2532 ไม่มีบทมาตราใดบัญญัติว่าในกรณีที่ไม่มีการหมั้น หากฝ่ายใดผิดสัญญาจะสมรส ให้ฝ่ายนั้นรับผิดใช้ค่าทดแทน เช่น กรณีที่มีการหมั้น ฉะนั้นเมื่อโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าจะสมรสหรือจดทะเบียนสมรสโดยไม่มีการหมั้น จึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง แม้จำเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้
นอกจากนั้น แม้จะมีการหมั้นหรือไม่ก็ตาม กรณีการจัดงานเลี้ยงแขก ฝ่ายที่เสียหายจากกรณีที่อีกฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถเรียกค่าเสียหาย หรือค่าทดแทน ในกรณีจัดงานเลี้ยงได้ เพราะฎีกาที่ 90/2512 ค่าเลี้ยงดูในวันทำพิธีแต่งงานไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสอันจะเรียกค่าทดแทนกันได้ (เทียบฎีกาที่1166/2487).-สำนักข่าวไทย
ขอบคุณข้อมูลจาก สายตรงกฎหมาย , เกิดผล แก้วเกิด