กรุงเทพฯ 21 มิ.ย.- ต้นสัปดาห์หน้ากรมโรงงานจะออกคำสั่งระงับพิจารณาขอนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกอย่างถาวร แต่เปิดช่องให้ผู้ประกอบการที่ทำถูกต้องสามารถขออนุญาตนำเข้าเป็นรายกรณีได้ โดยยื่นคำร้องตรงต่อคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ
นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2561 กรณี ห้ามการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก
กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินกา รดังนี้ ในช่วงต้นสัปดาห์หน้ากรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.)โดยนายมงคล พฤษวัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะออกคำสั่งระงับการพิจารณาใบขออนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเป็นการถาวร หลังจากนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะโดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จะออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมเรื่องระงับการอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกเป็นการถาวรโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำเอกสารเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเอาไว้พร้อมแล้ว และจะเร่งดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีให้เร็วที่สุด ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการสั่งการตามนี้ เป็นไปตาม พรบ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 มาตรา 32 วรรค 2 โดยกำหนดห้ามใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศหรือสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงอยู่ในภาคีภาคีอนุสัญญาบาเซลต่อไป เพราะยังมีการส่งออกซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกบางอย่างไปบริหารจัดการในต่างประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกแล้ว และช่วงที่ผ่านมาไม่ทำผิด สามารถยื่นเรื่องขออนุญาตนำเข้าเป็นรายกรณีได้โดยตรงจากคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ซึ่งตั้งขึ้นตามคำสั่งของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้ เช่น บริษัทฟูจิซีร็อกซ์ อีโค-แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ที่มีโควตานำเข้าเหลืออีก 2,400 ตัน และบริษัท หมิง เอ็นจิเนียริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ทั้งสองบริษัทดังกล่าว สามารถยื่นเรื่องขออนุญาตนำเข้าได้เป็นรายกรณี ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกจำนวน 29 ราย ส่วนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวน 7 ราย
สำหรับการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ เกิดขึ้น เนื่องจากมีการนำเข้าเศษซากอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือการดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ปัจจุบันการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในการดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม และเศษพลาสติกเป็นอำนาจที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดูแล
นายมงคล กล่าวถึงกรณีที่กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ประเทศไทยมีซากอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 400,000 ตันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ปริมาณเท่านั้น ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่สามารถยืนยันตัวเลขได้กล่าวได้ เพราะไม่มีฐานข้อมูลเรื่องนี้ที่จะระบุจำนวนที่เที่ยงตรงได้ ส่วนสถิติการนำเข้าซากอิเล็กทรอนิกส์นั้น กรมโรงงานฯ มีข้อมูลว่า ปี 2560 นำเข้ารวม 53,000 ตัน ปี 2561 นำเข้าแล้ว 37,000 ตัน โดยประเทศต้นทางหลักที่ประเทศไทยนำเข้ามาคือ ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ส่วนเศษพลาสติก ปี 2560 นำเข้ารวม 1.5 แสนตัน ปี 2561 นำเข้าแล้ว 1.1แสนตันจากโควตา 200,000 ตัน . – สำนักข่าวไทย