กรุงเทพฯ 11 มิ.ย.-วันนี้เป็นเส้นตายที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติส่งหนังสือด่วนขอทราบรายละเอียดบัญชีวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะวัดที่พระไม่ถือเงินสด แต่นำเข้าบัญชีวัดทันทีหลังได้รับงบและเงินบริจาค เพื่อตรวจสอบความโปร่งใส ทำให้คณะสงฆ์ส่วนใหญ่เกิดความไม่สบายใจ
หลังผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติลงนามคำสั่งถึงวัดทั่วประเทศ การบริหารจัดการเงินในวัด ทั้งส่วนพระภิกษุไม่ถือเงินสด เงินบริจาค และอื่นๆ ในวันนี้ สร้างความไม่สบายใจให้คณะสงฆ์ไม่น้อย เนื่องจากมองว่าไม่ใช่มติที่จากมหาเถรสมาคม แต่จากการตรวจสอบ มติ มส.เคยเห็นชอบให้วัดทั่วประเทศจัดทำบัญชีรูปแบบใหม่ตามที่สำนักพุทธฯ เสนอ เมื่อ 10 ตุลาคม ปี 2560
ปัจจุบันไทยมีกว่า 40,000 วัด ทั่วประเทศ แต่ละวัดมีวิธีที่บริหารจัดการบัญชีที่แตกต่างกันไป และข้อมูลไม่ชัดเจนว่าเจ้าอาวาสหรือพระภิกษุมีบัญชีส่วนตัวมากน้อยเพียงใด จึงนำมาสู่การขอตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสอีกครั้ง
ทีมข่าวลงพื้นที่ไปยังวัดดาวดึงษาราม ย่านบางยี่ขัน ซึ่งเป็นวัดตัวอย่างของการจัดทำระบบบัญชีแบบมาตรฐาน ให้ข้อมูลว่ายังไม่เห็นหนังสืออย่างเป็นทางการแต่ทราบจากข่าว หากขอมาวัดพร้อมส่งรายละเอียดให้ เพราะที่ผ่านมาจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด ตามที่สำนักพุทธฯ ขอความร่วมมือ ส่งทุกสิ้นปีงบประมาณ โดยแบ่งเป็น 6 ประเภท คือ สมุดบัญชีวัด สมุดบัญชีค่าน้ำ-ไฟ สมุดบัญชีเพื่อการศึกษาพระปริยัติธรรม สมุดบัญชีรายงานงบรายรับรายจ่าย สมุดบัญชีทุนการศึกษาสงเคราะห์และสมุดบัญชียอดเงินคงเหลือ และบันทึกลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างละเอียด ซึ่งแต่ละเดือนจะมีรายรับการการบริจาคประมาณ 100,000 บาท และเงินอุดหนุนเฉพาะการศึกษาจากเอกชนและภาครัฐบางส่วน การเบิกจ่ายต้องมีใบเสร็จทุกครั้ง ยืนยันว่าวัดนี้เจ้าอาวาสไม่มีบัญชีส่วนตัว
ขณะที่วัดจตุรมิตรฯ ย่านบางยี่ขัน ที่เป็นวัดขนาดเล็ก มีพระเพียง 5 รูป เพิ่งได้รับหนังสือจากสำนักพุทธฯ วันนี้ และขอยืดเวลาส่งบัญชีถึงสิ้นเดือน ซึ่งที่วัดไม่มีปัญหาเรื่องเงิน เนื่องจากไม่ค่อยได้งบอุดหนุนจากรัฐ มีเพียงเป็นเงินทำบุญจากญาติโยม แต่ไม่ได้ทำบัญชีมาตรฐาน ทำตามความเข้าใจแบบบัญชีครัวเรือน เพราะเป็นวัดเล็ก ที่ผ่านมาพยายามส่งบัญชีทุกปี แต่ก็เพิ่งส่งต่อเนื่องในปี 57 สมัยรัฐบาลทหาร
ด้านสำนักพุทธฯ ชี้แจงภายหลังการประชุมมหาเถรสมาคม ว่าหนังสือดังกล่าวเพื่อขอทราบแนวทางปฏิบัติด้านการเงินของแต่ละวัด ที่พระไม่จับเงิน แต่ส่งเข้าบัญชีวัด โดยตามหลักพระวินัย หากพระภิกษุรับเงิน หรือมีบัญชีส่วนตัว ถือว่าต้องอาบัติ
การจัดทำระบบบัญชีรายรับ-รายจ่ายของวัดทั่วประเทศเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 และค่อยๆ พัฒนาจากระบบบัญชีครัวเรือนแบบง่ายๆ มาเป็นระบบบัญชีแบบมาตรฐานในปีงบประมาณ 2561 โดยสำนักพุทธฯ จัดทำคู่มือและส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมการทำบัญชีอย่างต่อเนื่องทุกปี และมีหนังสือถึง มส.ขอความร่วมมือให้ยกเลิกระบบเก่าเข้าสู่ระบบใหม่เต็มรูปแบ เพื่อให้การจัดทำบัญชีเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โปร่งใสและตรวจสอบง่าย ป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น.-สำนักข่าวไทย