กรุงเทพฯ 24 พ.ค. – กระทรวงคมนาคมเผยขายซองประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่ากว่า 220,000 ล้านบาท 18 มิ.ย.ถึง 9 ก.ค.นี้ ย้ำต้องได้ผู้ชนะประมูลภายในปีนี้
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงขั้นตอนการดำเนินการคัดเลือกผู้ลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวแถลงเตรียมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานอู่ตะเภา ว่า วันพุธที่ 30 พฤษภาคม – 17 มิถุนายน 2561 กระทรวงคมนาคมจะประกาศเชิญชวนเอกชนผู้สนใจลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินให้เข้ามารับทราบข้อมูลโครงการในภาพรวม ขอบเขตการดำเนินการ รวมถึงสัดส่วนโครงสร้างผู้ถือหุ้น เป็นต้น แต่ยังไม่มีการประกาศ TOR ทั้งนี้ เพื่อให้เวลาพิจารณาตัดสินใจ หลังจากนั้นภายใน 3 สัปดาห์ คือ ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายนถึง 9 กรกฎาคม 2561 จะเป็นช่วงประกาศเชิญชวนนักลงทุนภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาซื้อเอกสารโครงการและกรอบการดำเนินการยังคงดำเนินการตาม Timeline โดยจะคัดเลือกผู้ลงทุนที่มีศักยภาพให้ได้ภายในปี 2561 รวมระยะเวลา 5 เดือนนับจากขายซองประมูลโครงการ ซึ่งขณะนี้มีเอกชนสนใจที่จะลงทุนโครงการนี้ทั้งเอกชนในประเทศและต่างประเทศประมาณ 5 กลุ่ม มีทั้งจับมือกับต่างประเทศและจากต่างประเทศที่สนใจจะเข้ามาลงทุนเอง
ส่วนภาพรวมโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือคณะกรรมการอีอีซี ภายใต้ พ.ร.บ.อีอีซี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จากนั้นวันที่ 7 มิถุนายน 2561 จะมีการจัดประชุมชี้แจงข้อมูลภาพรวมโครงการอีอีซีให้กับทูตประเทศต่าง ๆ มารับฟังที่กระทรวงการต่างประเทศ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ระหว่างวันที่ 18 มิถุนายนถึง 9 กรกฎาคม 2561 จะเป็นช่วงประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจโครงการลงทุน จากนั้นวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 จะเป็นวันประชุมชี้แจงเอกชนที่ซื้อเอกสารโครงการครั้งที่ 1 และ 24 กรกฎาคม 2561 ผู้ที่เข้าร่วมประมูลจะมีโอกาสลงพื้นที่โครงการจริง ที่โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์และพื้นที่ตามแนวเส้นทาง วันที่ 24 กันยายน 2561จะจัดประชุมชี้แจงเอกชนผู้ซื้อเอกสารโครงการครั้งที่ 2 พร้อมเปิดรับคำถามในช่วงระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคมถึง 9 ตุลาคม 2561 และช่วงวันที่ 10 กรกฎาคมถึง 30 ตุลาคม 2561 ตอบคำถาม ซึ่งเป็นกระบวนการปกติของการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ที่จะเอกชนจะได้มีเวลาทำความเข้าใจโครงการ หลังจากนั้น ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 จะเป็นวันที่ให้เอกชนที่สนใจลงทุน ยื่นเอกสาร ข้อเสนอ
นายไพรินทร์ กล่าวว่า โครงการนี้ภาครัฐจะลงทุนมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะครอบคลุมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากสนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภา มี 15 สถานี รวมสถานีในเมือง โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร ดังนี้ รถไฟความเร็วสูงส่วนต่อขยายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ดอนเมือง-พญาไท ระยะทาง 21 กิโลเมตร, รถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พญาไท-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 29 กิโลเมตร, รถไฟความเร็วสูงจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร และพัฒนาพื้นที่สถานีและสนับสนุนการให้บริการผู้โดยสาร สถานีมักกะสันประมาณ 150 ไร่ สำหรับเป็นสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง สถานีศรีราชาประมาณ 100 ไร่ ซึ่งให้เอกชนพัฒนา 25 ไร่เท่านั้น สำหรับเป็นสถานีเพื่อสนับสนุนบริการรถไฟและโรงซ่อมหัวรถจักรของ รฟท.
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการอีอีซี กล่าวว่า จะเป็นโครงการแรกที่เปิดประมูลแบบ international Bidding ครั้งแรกของประเทศไทยที่มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 220,000 ล้านบาท การประมูลเป็นรูปแบบ net cost ใครเสนอผลประโยชน์สูงสุดรัฐบาลลงทุนน้อยที่สุดเป็นผู้ชนะการประมูล โดยพิจารณาจากกรอบวงเงินที่รัฐบาลจะลงทุนรวมไม่เกิน มูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาทตามมติคณะรัฐมนตรี
สำหรับระยะเวลาก่อสร้างจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ปีแล้วแต่ผู้ชนะประมูล โครงการนี้จะสร้างผลตอบแทนประเทศประมาณ 700,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 50 ปีแรก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 400,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) ซึ่งมากกว่าเงินลงทุนประมาณ 220,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน) จึงถือว่าเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่าต่อการลงทุน โดยผลตอบแทนดังกล่าวมาจากมูลค่าเพิ่มการนำสนามบินอู่ตะเภามาใช้ประโยชน์ ลดการใช้น้ำมัน ลดเวลาการเดินทาง ลดมลพิษสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์ ผลตอบแทนจากการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดเส้นทาง การจ้างงานและการใช้ปัจจัยการผลิตในประเทศไทย และรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีต่าง ๆ เพิ่มขึ้น เมื่อครบ 50 ปีแล้ว ยังมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจนสิ้นอายุของโครงการอีกอย่างน้อย 300,000 ล้านบาท (มูลค่าปัจจุบัน)
นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลโครงการจะลงทุนไปก่อนทั้งหมดกว่า 220,000 ล้านบาท โดยที่รัฐบาลจะทยอยจ่ายคืนให้ในช่วง 10 ปีนับตั้งแต่ก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จ โดยจ่ายในวงเงินที่ไม่เกิน มูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาทตามมติคณะรัฐมนตรี
สำหรับโครงการนี้จะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ช่วยยกระดับสนามบินอู่ตะเภามาเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 ให้ทำงานควบคู่กับท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่มีผู้โดยสารเกินความจุแล้ว 17 ล้านคนต่อปี ด้วยความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ท่าอากาศยานอู่ตะเภาสามารถเชื่อมกับกรุงเทพได้ในเวลา 45 นาที เทียบกับการเดินทางโดยรถยนต์ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง ในอนาคตผู้โดยสารสามารถลงเครื่องบินที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาแล้วขึ้นรถไฟความเร็วสูงเข้ากรุงเทพฯ สะดวกและรวดเร็ว โดยใช้เวลาใกล้เคียงกับสนามบินนาริตะเข้ากรุงโตเกียว รถไฟความเร็วสูงเป็นการเปิดพื้นที่การพัฒนาจากกรุงเทพฯ เชื่อมฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยจะมีสถานีรถไฟ 5 สถานี คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา อู่ตะเภา ซึ่งนอกจากจะมีการพัฒนาบริเวณสถานีให้เป็นพื้นที่พัฒนาเชื่อมโยงกับชุมชนเก่าแล้ว ประชาชนตลอดเส้นทางสามารถมาใช้บริการโดยนำรถยนต์ไปจอดที่สถานีเหล่านี้ได้ ทำให้ประหยัดเวลาการเดินทางมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้รถติดมากและประเทศได้ประโยชน์จากการลดการใช้น้ำมันและลดความแออัดบนถนน รถไฟความเร็วสูงที่มีความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนี้เป็นช่วงแรกของการเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาไปสู่ระยอง จันทบุรี และตราดในอนาคตอันใกล้ ขณะนี้กำลังดำเนินการศึกษาระยะที่ 2 คาดว่าใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพถึงระยอง 60 นาที กรุงเทพฯ-จันทบุรี 100 นาที และกรุงเทพฯ-ตราด 120 นาที ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมและจะทำให้คนส่วนใหญ่หันมาใช้การเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงแทนการเดินทางโดยรถยนต์ .–สำนักข่าวไทย