ภูมิภาค 22 พ.ค. – เดือนรอมฎอน ถือเป็นเดือนบวชของชาวมุสลิมที่มุ่งปฏิบัติศาสนกิจ แต่เหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ส่วนใหญ่ปะทุขึ้นในช่วงเดือนนี้ แม้ตั้งแต่ปี 2556 การพูดคุยสันติภาพจะมีข้อตกลงหยุดยิงในเดือนรอมฎอน แต่ก็มีการละเมิดข้อตกลง
เดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนบวชของศาสนาอิสลาม ชาวมุสลิมจะผูกพันกับมัสยิดเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะร่วมละหมาดที่มัสยิดเหมือนเช่นเคยแล้ว จะมุ่งศึกษาพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานในขณะถือศีลอดด้วย เพื่อขัดเกลาจิตใจและสะสมความดี ซึ่งจะได้ผลบุญทวีคูณในเดือนนี้
ปี 2556 เป็นช่วงที่เริ่มมีการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง ซึ่งได้มีข้อตกลงหยุดยิง โดยเริ่มทดลองในเดือนรอมฎอน ซึ่งข้อมูลจากฐานข้อมูลชายแดนใต้ พบว่า ช่วงแรกเหตุการณ์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ช่วงท้ายของเดือนกลับมีเหตุรุนแรงสูงขึ้น และทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่าอีกฝ่ายละเมิดข้อตกลงก่อน นับแต่นั้นเป็นต้นมา เดือนรอมฎอนจึงเป็นช่วงเวลาที่หลายฝ่ายจับตามอง และฝ่ายรัฐได้เพิ่มการเฝ้าระวังเหตุรุนแรงอย่างเข้มข้นมากขึ้น
สถิติเหตุการณ์ความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอน ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าเหตุรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่อง กระทั่งล่าสุดเดือนรอมฎอนปีนี้ ซึ่งเพิ่งจะเริ่มได้เพียง 5 วัน แต่กลับมีจำนวนเหตุการณ์เพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง จากเหตุระเบิดตู้เอทีเอ็ม 24 จุด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา
แบบแผนลักษณะการปฏิบัติการระเบิดตู้เอทีเอ็มพร้อมกันหลายจุด “รอมฎอน ปันจอร์” มองว่า เป็นปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น เพราะที่ผ่านมามักปฏิบัติการเช่นนี้ แต่เป้าหมายเป็นการโจมตีตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สาธารณะ ถือเป็นการโจมตีพลเรือนด้วย ซึ่งเรียกร้องให้ฝ่ายผู้ก่อเหตุสื่อสาร
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานี ยืนยันว่า ในทางสืบสวนมีความคืบหน้าคดีพอสมควร จากการติดตามพยานบุคคลและวัตถุพยานในที่เกิดเหตุไปพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้ทราบพฤติกรรมกลุ่มผู้ก่อเหตุในเมืองปัตตานีแล้วว่ามี 6 คน ขี่รถจักรยานยนต์คนละคัน ก่อเหตุคนละ 1 จุด ซึ่งต่างจากเหตุที่ผ่านมามักซ้อนท้ายกัน 2 คน หากได้ผลตรวจพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์แล้ว คาดว่าจะสามารถระบุตัวคนร้ายได้ภายใน 2-3 วันนี้
ล่าสุดเจ้าหน้าที่รัฐได้ประชุมร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อปรับเปลี่ยนแผนการรักษาความปลอดภัยใหม่ ทั้งการตั้งด่านชั้นนอก ชั้นกลาง และในเมือง เพื่อให้ทันกับพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุที่ปรับกลยุทธ์ใหม่อยู่เสมอ. – สำนักข่าวไทย