กรุงเทพฯ 2 พ.ค.-เจ้าพนักงานบังคับคดีทั่วโลกใช้เวทีประชุมที่ไทย ระดมสมองวางรูปแบบกฎหมายบังคับคดีทรัพย์ดิจิทัลเป็นครั้งแรกของโลก ยอมรับเป็นเรื่องยากและยังไม่มีประเทศใดในโลกมีกฎหมายบังคับใช้
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ในการประชุมคองเกรสนานาชาติของเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ (UTIJ) ครั้งที่23 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในรอบ 66 ปี และเป็นเจ้าภาพประเทศแรกในภูมิภาคเอเซีย จึงเป็นโอกาสพคัญของประเทศไทยที่จะได้นำเสนอความก้าวหน้าในเรื่องนโยบายต่าง ๆ ของประเทศ นโยบายด้านการอำนวยความยุติธรรม ที่สำคัญจะเป็นจุดเริ่มต้นของนานาชาติ ในการร่วมวางแนวทางและสร้างกฎหมายการบังคับคดีทรัพย์ดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ ซึ่งจะมีการอภิปรายในการประขุมช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (3พ.ค.)
โดยไทยเสนอเป็นตัวเป็นผู้นำในการอภิปราย และร่วมระดมสมอง กับเจ้าพนักงานบังคับคดีที่เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คน จาก 50 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากทรัพย์ดิจิทัลเป็นความท้าทายรูปแบบใหม่ที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจน และจะต้องมีหลักในการพิสูจน์เมื่อสืบว่าลูกหนี้มีสินทรัพย์ดิจิทัลจะอายัดได้หรือไม่อย่างไร
นาง ฟรองซัว อองดิเยอร์ (Franqois Andrieux) ประธานสภาเจ้าพนักงานบังคับคดีระหว่างประเทศ กล่าวเช่นกันว่า การประชุมครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการวางแนวทางการบังคับคดีทรัพย์สินที่เป็นดิจิทัลเพราะทุกวันนี้ทรัพย์สินดิจิทัลมีความก้าวหน้าไปมาก มีการใช้กันทั่วโลก เท่าที่ทราบถึงขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดในโลกมีกฎหมายบังคับคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ชัดเจน แม้ส่วนใหญ่จะไม่ได้นิ่งเฉยและกำลังยังอยู่ในขั้นตอนของการวางรูปแบบกฎหมายการบังคับคดี แต่เพราะความยากของเรื่องนี้คือการอายัดหรือยึดจะทำอย่างไรและยากในการพิสูจน์ความเป็นเจ้าของด้วย
โดยเวทีวันพรุ่งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และวิธีดำเนินการของแต่ละประเทศ และอภิปรายอย่างอิสระ ซึ่งคาดว่าน่าจะได้แนวทางหรือกรอบของกฎหมายบังคับคดีดิจิทัล ที่หลายไประเทศสามารถนำกลับไปกำหนดเป็นรูปแบบใช้กับประเทศตัวเองได้
สำหรับการได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศในเวทีประชุมที่ประเทศไทยครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมระดับนานาชาติครั้งแรกของโลก ส่วนเหตุผลที่เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ไทยมีศักยภาพในการที่จะเป็นสะพานเชื่อมไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนอื่นๆ ได้ในอนาคต.-สำนักข่าวไทย