กรุงเทพฯ 21 เม.ย. –ชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
(เอสพีพี ) ชีวมวล ทำหนังสือเปิดผนึก ถึง รมว.พลังงาน ขอให้ พิจารณาปรับโครงสร้างราคาใหม่ให้เป็นธรรมหลังกระทรวงพลังงานปรับราคาให้วีเอสพีพีไปแล้ว
โดยขอให้นำเข้า กพช. 23 เม.ย.ด้าน รมว.พลังงานเผยไม่มีการพิจารณาเรื่องนี้
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานชมรมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก
(SPP) ชีวมวล เปิดเผยว่า
เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2561 ทางชมรมได้ ยื่นหนังสือหนังสือเปิดผนึก ถึง นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือไปแล้วครั้งหนึ่ง
โดยขอให้มีการปรับโครงสร้างราคารับซื้อให้เป็นธรรม เช่นเดียวกับสมัยอดีต
รมว.พลังงาน พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ได้เสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
และมีมติให้ปรับโครงสร้างเช่นเดียวกับผู้ประกอบการวีเอสพีพี ชีวมวล ที่ปรับราคาเป็นโครงสร้างอุดหนุนแบบ
FIT ซึ่งการปรับโครงสร้างดังกล่าวทำให้ วีเอสพีพี
ได้เปรียบมีความสามารถซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลในอัตราที่สูงกว่า และไม่มีโครงสร้างถูกดำเนินการเรียกค่าปรับ
เพราะเป็นสัญญาแบบ NON FIRM ในขณะที่เอสพีพีเป็นสัญญาแบบ FIRM
ที่จะถูกปรับหากดำเนินการไม่ได้
โดยที่ผ่านมา
ผู้ประกอบการเอสพีพีต้องประสบปัญหาขาดทุน บางรายอาจจะต้องปิดตัวลง หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ
บางรายได้มีการฟ้องร้องศาลปกครอง และกระทรวงพลังงานเจรจาไกล่เกลี่ย โดยยืนยันจะปรับโครงสร้างราคาเช่นเดียวกับวีเอสพีพี
ทางเอกชนจึงถอนฟ้อง อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานยังไม่ได้ดำเนินการตามข้อตกลง
และตามมติ กพช. ดังนั้น จึงขอให้ รมว.พลังงานนำเรื่องเข้าสู่การประชุม กพช.วันที่
23 เม.ย.นี้
“เอสพีพี ชีวมวลขอ ‘โอกาสและการปฏิบัติเท่าเทียม’ และขอให้นำมาตรการช่วยเหลือ SPP ชีวมวลที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานเมื่อ 5
กันยายน 2560 และ 8 กุมภาพันธ์ 2561 พร้อมด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเมื่อ 28
มีนาคม 2561 เข้าสู่วาระการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในวันที่ 23
เมษายน 2561 นี้ด้วย”นายนที ระบุ
อย่างไรก็ตาม รมว.พลังงาน
ระบุว่า การประชุม กพช. 23 เม.ย.นี้ จะมีการหารือเรื่องหลักๆ 2 เรื่องเท่านั้น คือ
เรื่องมแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี ) และการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมหมด
อายุ
ทั้งนี้ หนังสือเปิดผนึกของ ชมรม SPP ชีวมวลระบุว่ามีข้อเท็จจริง 11 ประการ ได้แก่
1.
SPP
ชีวมวลเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นแรกของประเทศไทยที่ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน
2.
SPP
ชีวมวลรุ่นแรกไม่เคยได้รับทั้งเงินสนับสนุน Adder และ FiT จึงไม่เคยเป็นภาระค่าไฟของประเทศและประชาชน
3.
ค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศและประชาชน (ค่าไฟฟ้าฐาน) คือ 3.76
บาทต่อหน่วย
4.
รัฐรับซื้อไฟฟ้าจาก
SPP ชีวมวลที่เกินกว่าครึ่งเป็น
Firm ในราคาเฉลี่ยที่ 2.65 บาทต่อหน่วย
5.
รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าประเภทเดียวกันกับ
SPP ชีวมวลแต่มาทีหลังคือ
VSPP ชีวมวลที่ทั้งหมดเป็น Non-Firm ในราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
4.24 บาทต่อหน่วย
6.
เป็นเรื่องแปลกแต่จริงที่ราคารับซื้อแบบ
Firm ที่ต้องขายไฟให้ได้ตามสัญญาหากขายไม่ได้ต้องมีค่าปรับ
กลับมีราคาถูกกว่าแบบ Non-Firm ที่ไม่ผลิตไม่ขายไฟก็ได้โดยไม่มีค่าปรับ
7.
SPP ชีวมวลร้องขอราคา FiT ที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้แข่งขันซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลกับ
VSPP ได้ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย (เนื่องจากมีขนาดใหญ่กว่า VSPP ต้นทุนต่อหน่วยจึงต่ำกว่า)
8.
เมื่อรวม
SPP ชีวมวลรุ่นแรกที่มีขนาดเท่ากับ
VSPP (ปริมาณขายไฟฟ้า 457 ล้านหน่วย) ราคารับซื้อไฟฟ้าจาก
SPP ชีวมวลโดยเฉลี่ยจะเป็น 3.72 บาทต่อหน่วยซึ่งยังคงต่ำกว่าค่าไฟฟ้าฐาน
9.
ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศคือ
197,000 ล้านหน่วย
10.
ปริมาณขายไฟฟ้ารวมของ
SPP ชีวมวล
(Plant Factor 70%) คือ 4,119 ล้านหน่วย
11.
ด้วยราคาที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าฐานและปริมาณขายไฟฟ้าเพียง
2% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ
จึงไม่กระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนและของประเทศโดยรวมแต่อย่างใด
นอกจากนี้ หนังสือเปิดผนึก ยังเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ประกาศในราช
กิจจานุเบกษาวันที่ 6 เมษายน 2561 เรื่องการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน
ในบริบทตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญ 2560
กำหนดให้ดุลยภาพในการพัฒนาระบบโครงสร้างพลังงานอย่างยั่งยืนต้องประกอบด้วย 1.
นโยบายพลังงาน “การแข่งขันอย่างเสรีเป็นธรรม” 2. การกำกับดูแล “อิสระมีส่วนร่วมและเป็นธรรม”
3. ผู้ประกอบการ “โอกาสและการปฏิบัติเท่าเทียม”
–สำนักข่าวไทย