ภาคใต้ 12 เม.ย.-สำนักข่าวไทยลงพื้นที่ชายแดนใต้ พบการเร่งผลิตแพทย์และพยาบาลเพื่อทำงานในพื้นที่เสี่ยงอันตราย ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนทุน และผู้เคยดูแลเงินทุนกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตช่วยเด็กยากจน เช่น นางรจนา สินที อดีตข้าราชการที่ทุจริตเงินทุนนี้ เธอเคยทำวิทยานิพนธ์เพื่อวางยุทธศาสตร์ให้นักเรียนในการศึกษาสงเคราะห์ด้วย
บรรยากาศในห้องไอซียูทารกที่อยู่ในภาวะวิกฤติ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา มีทารกที่ต้องเฝ้ารอดูอาการอยู่เต็มห้อง อุปกรณ์เครื่องจ่ายก๊าซให้แก่เด็กกลุ่มโรคแรงดันในปอดสูงนี้ มีเครื่องเดียวในโรงพยาบาลชายแดนใต้ ความจำกัดของอุปกรณ์ แพทย์ และพยาบาล พบเห็นได้ทั่วไป
พยาบาลคนนี้ทำงานมานาน 15 ปีแล้ว อดีตเป็นนักเรียนทุนจากโรงพยาบาลยะลา ความตั้งใจเป็นพยาบาลมาจากการพบเห็นผู้คนบาดเจ็บจากเหตุการณ์ไม่สงบ พยาบาลในพื้นที่จะดูแลคนในพื้นที่ได้ดีที่สุด ด้วยความเข้าใจในวัฒนธรรมและศาสนา และพยาบาลส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนทุน
ผู้บริหารโรงพยาบาลเล่าว่า ในช่วง 10 ปี มีพยาบาลลาออกถึง 60 คน การให้ทุนนักศึกษาในพื้นที่ เมื่อเรียนจบแล้วให้กลับมาทำงาน ช่วยแก้ปัญหาพยาบาลลาออกได้ โดยสาขาที่ขาดแคลนคือ แพทย์ศัลยกรรมกระดูกและกุมารแพทย์ และพยาบาลเฉพาะทาง ช่วยเหลือผู้ป่วยวิกฤติ
ในปี 54 มีโครงการผลิตพยาบาลป้อนเข้าสู่โรงพยาบาลชายแดนใต้ 3,000 คน แก้ปัญหาพยาบาลขาดแคลน โดยการให้โควตากับนักเรียนในพื้นที่ให้มีงานทำในโรงพยาบาลทันทีที่เรียนจบ ในช่วงปีใกล้เคียงกัน สาธารณสุขร่วมมือกับศึกษาธิการวางแผนผลิตนักศึกษาพยาบาล เน้นนักเรียนที่เรียนดีแต่ยากจน สนับสนุนเงินค่าเทอมจากกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต โดยมีนางรจนา สินที อดีตข้าราชการระดับ 8 กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งถูกไล่ออกจากราชการ เป็นผู้ดูแลบัญชีนักเรียนทุน แต่กลับพบว่าการโอนเงินไม่ครบถ้วน
โดยเครือข่ายกลุ่มบุคคลที่มีชื่อในบัญชีรับโอนเงิน เจ้าหน้าที่พบบางบัญชีเป็นเพื่อนในสมัยเรียนปริญญาตรีและปริญญาโท การตรวจสอบพบว่า นางรจนา สินที สำเร็จปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์ มศว.พิษณุโลก เริ่มเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนบ้านศาลาประปุน อำเภอขุขันธุ์ จังหวัดศรีสะเกษ และระหว่างเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางรจนาเรียนต่อในระดับปริญญาโท ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่องสภาพการปฏิบัติงานตามระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของครูและผู้บริหารในโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ เพื่อทราบปัญหาและกำหนดยุทธศาสตร์ช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โดยได้ข้อมูลจาก 42 โรงเรียน แต่การทุจริตเงินทุนเด็กยากจนไม่ได้เป็นการช่วยเหลือนักเรียนตามอุดมการณ์ของวิชาชีพครู.-สำนักข่าวไทย
![](https://imgs.mcot.net/images//2018/04/1523539524753.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2018/04/1523539524756.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2018/04/1523539545997.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2018/04/1523539553246.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2018/04/1523539633077.jpg)
![](https://imgs.mcot.net/images//2018/04/1523539633076.jpg)