กรุงเทพฯ 2 เม.ย. – บวท.คงค่าบริการจัดจราจรทางอากาศสนามบินถึงปี 64 พร้อมดันไทยศูนย์กลางการบินอาเซียน ตั้งเป้าติด 1 ใน 10 ผู้โดยสารมากสุดในปี 79
นางสาริณี อังศุสิงห์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) เปิดเผยว่า ด้วยศักยภาพทางการบินที่เติบโตอย่างมากในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะกลายมาเป็นแกนสร้างรายได้หลักของตลาดการบินโลก โดยในระยะ 20 ปีนับจากนี้ หรือปี 2579 ตั้งเป้าประเทศไทยจะก้าวขึ้นมาเป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มียอดผู้โดยสารมากที่สุดในโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 20 ของโลก
ขณะเดียวกัน บวท.คาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีเที่ยวบินเข้ามาในประเทศประมาณ 3 ล้านเที่ยวบิน/ปี เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 200 เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่ประมาณ 1 ล้านเที่ยวบิน/ปี จึงมีมาตรการส่งเสริม ด้วยการคงอัตราค่าบริการจัดจราจรทางอากาศของสนามบินทั่วประเทศถึงปี 2564 เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) การบินในอาเซียนและดึงดูดให้สายการบินต่าง ๆ ในอาเซียนเข้ามาลงในประเทศไทยมากขึ้น ขณะที่การเปิดเสรีการบินสิ่งสำคัญ คือ การบริหารจัดการที่ดีสามารถแข่งขันได้ต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยีใหม่ ๆ ยอมรับว่าจุดอ่อนของการบินอาเซียน คือ ด้าน R&D และบุคลากรที่ต้องเร่งพัฒนาให้มีความรู้ความสามารถ
นายกฤตพล ฉันทฤธานนท์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารพันธมิตรการบิน และกลยุทธ์การพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดเสรีการบินเป็นเรื่องดี การบินไทยจะมุ่งเน้นทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางถ่ายเทผู้โดยสารใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ พร้อมทั้งออกแบบฟังก์ชั่นการใช้งานภายในเครื่องบิน เช่น ที่นั่ง ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น พร้อมพัฒนาเมืองรอง เพื่อสนับสนุนการบินไม่ให้กระจุกตัวแค่สุวรรณภุมิหรือดอนเมือง สิ่งสำคัญต้องมีความพร้อมให้บริการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมทั้งร่วมกับทุกหน่วยงานในการพัฒนาการบินให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า การเปิดเสรีการบินถือเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะนอกจากจะเพิ่มเที่ยวบินยังมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทุกฝ่ายควรร่วมกันสนับสนุนให้เมืองรองเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยการเลือกใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น แอร์เอเชียเปิดสายการบินกว่า 20 เส้นทางทุกปี เพราะเป็นความต้องการของลูกค้า ขณะที่สายการบินโลว์คอสร้อยละ 80 มาจากการเดินทางท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะมองว่าค่าครองชีพภูมิภาคนี้ถูก มีความจำเป็นต้องปั้นเมืองรองให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ โดยเมืองรองอาจเป็นฮับการบินแห่งใหม่ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ส่วนภาคอีสานกำลังเล็งจังหวัดขอนแก่น
สำหรับเทศกาลสงกรานต์ แอร์เอเชียไม่ได้เพิ่มเที่ยวบิน สิ่งสำคัญ คือ มาตรการดูแลการบริหารจัดการการบิน ทำอย่างไรให้ตรงเวลา เครื่องไม่เสีย และการเดินทางราบรื่น โดยเที่ยวบินเมืองหลัก เช่น เชียงใหม่ อุดร ภูเก็ต สามารถรองรับนักท่องเที่ยวเพียงพอ โดยยอดจองขณะนี้เมืองหลักอยู่ที่ร้อยละ 90 เมืองรองอัตราการจองร้อยละ 86-87
ส่วนกรณีที่สายการบินกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรนั้น แอร์เอเชียยืนยันว่าไม่ขาดแคลนบุคลากรด้านการบิน โดยนักบินทั้งหมดเป็นคนไทย พร้อมมีการวางแผนรองรับ 5-10 ปีข้างไว้แล้ว และไม่กังวลจะมีการแย่งนักบิน ขณะนี้มีการผลักดันให้นักบินหรือผู้สนใจมาเรียนและทำงานฝ่ายช่างของแอร์เอเชีย .-สำนักข่าวไทย