รัฐสภา 29 มี.ค.-เลขาธิการสภาฯ นำผู้เกี่ยวข้องสร้างรัฐสภาใหม่แจงเหตุต้องขอเพิ่มงบสร้าง ขณะที่บ.ซิโน-ไทยฯ เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสภาภายในเม.ย.นี้
นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมผู้เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่แถลงชี้แจงงบประมาณและปัญหาการก่อสร้างโดยละเอียดตั้งแต่การเริ่มก่อสร้างจนถึงปัจจุบัน พร้อมชี้แจงความจำเป็นที่ต้องขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติมจำนวนกว่า 8,648 ล้านบาท ว่า แบ่งเป็นการก่อสร้างระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร วงเงินกว่า 6,493 ล้านบาท งานสาธารณูปโภค 1,413 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงาน 229 ล้านบาท และวงเงินการขยายเวลาอีกกว่า 512 ล้านบาท เพื่อให้การก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ และสามารถใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์
“รัฐสภาแห่งเดิมจำเป็นจะต้องย้ายสถานที่ทำการจากถนนอู่ทองใน ไปยังรัฐสภาใหม่ย่านเกียกกายภายใน 9 เดือนนี้ ซึ่งหากไม่สามารถเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้จะเกิดปัญหาแน่นอน โดยงบประมาณขณะนี้ ได้เสนอต่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาก่อนนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติ” เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าว
นางพรรษมณ ไทยวัฒนานุกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้กำกับดูแลงานด้านไอซีที กล่าวถึงสาเหตุที่งบประมาณการก่อสร้างระบบไอซีทีเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 6,000 ล้านบาท จากเดิม 3,200 ล้านบาทว่า เนื่องจากผู้ออกแบบอาคารออกแบบเพียงระบบไอซีทีบางส่วนไว้ 1,200 ล้านบาท แต่ยังไม่รวมถึงระบบการแสดงตน และระบบลงคะแนน ทั้งนี้ จำเป็นต้องว่าจ้างบริษัทเมอร์ลินส์ โซลูชั่น อินเทอร์เนชัลแนล จำกัด มาทบทวนตามรายงานที่บริษัทออกแบบเดิมเคยออกแบบไว้ ซึ่งเป็นระบบที่จำเป็นต่อการใช้งานอย่างสมบูรณ์ เช่น ระบบโสตทัศนูปกรณ์ สำหรับห้องประชุมใหญ่ 2 ห้อง และห้องประชุมกรรมาธิการอีก 300 ห้อง ระบบสำรองไฟ ระบบแสดงตนด้วยการแสกนลายนิ้วมือเพื่อลงคะแนน และป้องกันปัญหาที่เคยเกิดในสภาในอดีต เป็นต้น ยืนยันว่าราคาที่ขออนุมัติเพิ่มเติม ได้สืบราคาจากกระทรวงดิจิตอลเพื่อเกษตรและสังคมแล้ว และยังจะต้องว่าจ้างบริษัทภายนอกมาควบคุมการใช้งานในช่วงแรกด้วย เพราะเจ้าหน้าที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานดังกล่าวมาก่อน และผลิตภัณฑ์ที่ใช้จะต้องมีคุณภาพ เพราะจะต้องใช้งานอย่างยาวนาน
ด้านนายโชติจุฑา อาจสอน กรรมการบริหารที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กล่าวว่า รายละเอียดงบประมาณที่จำเป็นต้องขอเพิ่มเติมในปี 2554 ได้นำงบประมาณที่ใช้ก่อสร้างงานโสตทัศนูปกรณ์ งานเทคโนโลยีสารสนเทศ และงานสาธารณูปโภคออกไป เนื่องจากงบประมาณการก่อสร้าง เมื่อรวมกับงานดังกล่าวแล้วมีราคาค่าก่อสร้างสูงกว่างบประมาณที่ได้รับ จึงต้องปรับแก้และแยกรายการก่อสร้างดังกล่าวออกให้เป็นงานนอกสัญญา เพื่อให้สามารถเปิดประมูลคัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างได้ ขณะนี้การก่อสร้างโครงสร้างอาคารเกือบเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่มีงบประมาณก่อสร้างระบบไอซีทีและระบบสาธารณูปโภค หากการก่อสร้างล่วงเลยไปและไม่สามารถสร้างระบบไอซีทีและระบบสาธารณูปโภคได้จะเกิดความเสียหายขึ้นอีกที่จะต้องรื้อโครงสร้างและใส่ระบบดังกล่าว
ขณะที่นายพีระ นาควิมล ผู้อำนวยการการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ยืนยันว่า ไม่มีใครต้องการให้การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้า เพราะทั้งรัฐและเอกชนได้รับความเสียหายทั้งสิ้น บริษัทจำเป็นต้องต่อสัญญาด้วยน้ำตาเพื่อให้การก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ และจะต้องแบกรับภาระและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการต่อสัญญาอีกวันละ 1 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเรียกร้องจากรัฐได้
“การที่บริษัท ซิโน-ไทยฯ รับงานดังกล่าว เพราะมั่นใจว่าสภาผู้แทนราษฎรฯ จะส่งมอบพื้นที่ได้ตามกำหนด แต่กลับส่งมอบพื้นที่ล่าช้าไปถึง 11 ครั้ง จึงส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง เพราะพื้นที่ที่ใช้ในการก่อสร้างจำเป็นต้องใช้สนับสนุนการก่อสร้างอาคาร โดยเฉพาะโครงหลังคาห้องประชุมสุริยัน และห้องประชุมจันทราที่มีน้ำหนักกว่า 2,000 ตัน และมีความหนากว่า 20 นิ้ว เพื่อป้องกันการยิงระเบิด RPG จากสะพานเกียกกาย ที่จะสร้างอยู่ใกล้เคียงกันนั้นไม่สามารถขนส่งมาได้ จะต้องประกอบในพื้นที่เท่านั้น” นายพีระ กล่าว
นายพีระ กล่าวถึงกรณีอดีตนักการเมืองระบุว่าเกิดการทุจริตในการก่อสร้าง ว่า หากเป็นข้อเท็จจริงก็พร้อมนำไปแก้ไข แต่หากเป็นความเท็จถือเป็นการทำลายความตั้งใจของบริษัทตนที่ได้ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เพราะก่อนหน้านี้เคยก่อสร้างอาคารของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดแล้ว จึงถือเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของตนเช่นเดียวกัน ซึ่งเบื้องต้นฝ่ายกฎหมายของซิโน-ไทยฯ ได้ตรวจคำให้สัมภาษณ์ของนักการเมืองกลุ่มดังกล่าวแล้ว หากเข้าข่ายเจตนาการหมิ่นประมาท สร้างความเสียหายให้บริษัท จะไม่รีรอที่จะรักษาสิทธิในการฟ้องร้องเช่นกัน
นายพีระ กล่าวถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบริษัทซิโน-ไทยฯ จากการขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างดังกล่าว ว่า บริษัทซิโน-ไทยฯ ได้ประกาศสำรองการขาดทุนของบริษัทต่อตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว 3,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อพนักงานบริษัท ขณะเดียวกันยังมีหนังสือถึงสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการต่อสัญญา 2 ครั้งที่ผ่านมา จำนวน 1,673 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายจากการต่อสัญญาครั้งที่ 3 โดยเตรียมยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อเรียกร้องค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ภายในเดือนเมษายนนี้ และยอมรับว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ บริษัทซิโน-ไทยฯ คงไม่ร่วมประมูลการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ในครั้งนี้.-สำนักข่าวไทย
