กรุงเทพฯ 28 มี.ค. – มีการรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึงปัจจุบัน (27 มี.ค.) พบว่า ผ่านมาแค่ 3 เดือน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 7 คน เปรียบเทียบกับปี 2560 ตลอดทั้งปีที่พบผู้เสียชีวิต 11 คน ถือว่าตัวเลขนี้ชี้ชัดถึงการระบาดได้พอสมควร
ผู้เสียชีวิตคนแรกจากโรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้ ถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 25 มกราคม โดยเป็นหญิงวัย 59 ปี ชาว ต.คอโค อ.เมืองสุรินทร์ ซึ่งอาการหลังรับเชื้อ พบว่า ขากรรไกรแข็ง น้ำลายฟูมปาก มีอาการกลัวน้ำ และพบข้อมูลที่บ้านเลี้ยงสุนัขไว้ 5 ตัว ทั้งยังชอบนำอาหารไปเลี้ยงสุนัขจรจัด
ผู้เสียชีวิตคนที่ 2 ถูกบันทึกไว้เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่ไม่มีข้อมูลระบุว่าเป็นเพศใด อายุเท่าไหร่ โดยเสียชีวิตที่ ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เนื่องจากถูกลูกสุนัขข่วนหรือกัดที่แขนซ้าย และไม่ไปพบแพทย์
ผู้เสียชีวิตคนที่ 3 เป็นชายวัย 41 ปี ชาว อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา หลังรับเชื้อเพราะถูกสุนัขกัด ช่วงปลายเดือนมกราคม จากนั้นประมาณเดือนเศษๆ ก็เสียชีวิตในวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา
ผู้เสียชีวิตคนที่ 4 เป็นชายวัย 44 ปี ชาว อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ได้รับเชื้อเพราะถูกลูกสุนัขที่เลี้ยงไว้กัดและข่วน จากนั้นจึงเสียชีวิตลงในวันที่ 11 มีนาคม
ผู้เสียชีวิตคนที่ 5 เป็นชายอายุ 61 ปี ใน อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 มีนาคม หลังถูกแมวกัดได้ 2 เดือน และไม่ไปรับวัคซีน
ส่วนผู้เสียชีวิตคนที่ 6 เป็นเด็กหญิงวัย 14 ปี ชาว อ.ปะคำ จ.บุรีรัมย์ ถูกลูกสุนัขกัดเดือนตุลาคม 2560 และเสียชีวิตวันที่ 19 มีนาคม อาการคือ มีไข้ กลืนน้ำลายลำบาก ไม่อยากดื่มน้ำ
และผู้เสียชีวิตคนที่ 7 ซึ่งพบข้อมูลเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) เป็นชายวัย 39 ปี ชาว อ.บางแก้ว จ.พัทลุง เหตุเพราะถูกลูกสุนัขที่เลี้ยงไว้ข่วน 1 เดือนก่อน แต่ไม่ไปรับวัคซีน กระทั่งมีอาการคอแข็ง กลืนลำบาก และกลัวลม ก่อนเสียชีวิตลง ตามรายงานคือเมื่อวันที่ 25 มีนาคม
ส่วนสถานการณ์การระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ที่กรมปศุสัตว์ประกาศเป็นเขตโรคระบาดชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงเมื่อวานนี้ (27 มี.ค.) พบว่า มีพื้นที่ระบาดล่าสุด 29 จังหวัด เพิ่มขึ้น 2 จังหวัด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม แบ่งเป็น ภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ เชียงราย น่าน และตาก ภาคอีสาน 10 จังหวัด คือ นครราชสีมา ยโสธร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มุกดาหาร และอุดรธานี
ภาคกลาง 7 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ และนนทบุรี ภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี และระยอง
ส่วนภาคใต้ 6 จังหวัด คือ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล และระนอง เห็นได้ชัดว่า พื้นที่ระบาดส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน. – สำนักข่าวไทย
ชมผ่านยูทูบ