กรุงเทพ ฯ 22 มี.ค. – สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เผยงานวิจัยพบสินเชื่อมอเตอร์ไซด์ มีสัดส่วนหนี้เสียสูง โดยภาคใต้หนี้เสียมากที่สุด กลุ่มอายุระหว่าง 25-35 ปีมากที่สุด
นางโสมรัศมิ์ จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านระบบการเงิน สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เปิดเผยงานวิจัย โครงสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยไทยและพฤติกรรมของสถาบันการเงิน จากข้อมูล Big Data ของเครดิตบูโร ซึ่งเป็นข้อมูลรายสัญญา ในปี 2559 เพื่อศึกษาถึงโครงสร้างและการเเข่งขันในการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ที่ส่งผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อและคุณภาพของผู้ยื่นกู้ และสะท้อนถึงพฤติกรรมความเสี่ยงของสถาบันการเงินในตลาดสินเชื่อ โดยพบว่าตลาดสินเชื่อรถยนต์, ตลาดสินเชื่อบัตรเครดิต, ตลาดของผู้กู้ที่อายุน้อยกว่า 25 ปี และตลาดของผู้กู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการแข่งขันสูงและมีลักษณะที่ไม่กระจุกตัวอยู่กับสถาบันการเงินเพียงไม่กี่แห่ง แตกต่างจากตลาดสินเชื่อธุรกิจ ตลาดสินเชื่อรายย่อยและ ตลาดสินเชื่อบ้าน ที่มักกระจุกตัวอยู่กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือ SFI และมีการกระจุกตัวอยู่กับผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ในตลาดของผู้กู้ที่อายุมากและตลาดผู้กู้ที่อาศัยอยู่ในชนบท
โดยสินเชื่อมอเตอร์ไซด์ มีสัดส่วนหนี้เสียทั้งในเชิงเม็ดเงินและในเชิงจำนวนคนที่มีหนี้เสีย (หนี้ที่ค้างชำระเกิน 90 วัน) ที่สูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น เมื่อดูตามประเภทสถาบันการเงิน พบว่า non-bank และ SFI มีสัดส่วนของผู้กู้ที่เป็นหนี้เสียในสัดส่วนที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ หากมองในเชิงพื้นที่ พบว่า ภาคใต้มีสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงที่สุด คือร้อยละ18.5 และต่ำในภาคเหนือ ร้อยละ13 หากมองในรายกลุ่มอายุ พบว่า สัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงในช่วงกลุ่มอายุ 25-35 ประมาณร้อยละ 20.2 รองลงมาในกลุ่มอายุน้อยกว่า25 ปี ร้อยละ17.7 ผู้กู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี คิดเป็นจำนวนร้อยละของ 3.2 ของผู้กู้ทั้งหมด ซึ่งมีปริมาณสินเชื่อเป็นร้อยละ 1.1 ของปริมาณสินเชื่อทั้งหมด
นางสาวอัจจนา ล่ำซำ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยด้านเครือข่ายวิจัยและการสื่อสาร สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่าการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินต่างๆ ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง จะมีการมีการเข้าถึงสินเชื่อสูงและมีคุณภาพสินเชื่อของผู้กู้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจจะเกิดมาจากการพยายามแย่งลูกค้าระหว่างสถาบันการเงินด้วยวิธีต่างๆ จนทำให้ผู้กู้บางรายเข้ามาในตลาดสินเชื่อโดยที่ไม่มีความพร้อม ถึงแม้ว่าการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในตลาด จะทำให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพลง จึงควรที่จะให้ความสำคัญกับนโยบายที่มุ่งการกำกับดูแล ควบคู่กันไปกับการส่งเสริมการเเข่งขันไปพร้อมกัน.-สำนักข่าวไทย