สธ.7 มี.ค.-กรมสุขภาพจิต ห่วงการได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงช่วงเวลาสั้นๆไม่ถึงนาทีมีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย ชี้ควรเผยแพร่ข่าวสารด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการให้รายละเอียด วิธีการ ภาพ โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายของคนที่มีชื่อเสียง คนดัง ดารา เร่งให้ความรู้ผู้เกี่ยวข้องผ่านสื่อเทคโนโลยีทันสมัย และพัฒนาระบบบริการ เพื่อการป้องกันปัญหา
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ต่อกรณีข่าวการฆ่าตัวตายด้วยวิธีการที่ไม่ค่อยพบเห็นได้บ่อยนักในสังคมไทย แต่พบได้บ่อยในต่างประเทศ กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงอยากให้ประชาชนไทยตระหนักถึงพฤติกรรมเลียนแบบวิธีการการฆ่าตัวตายของคนอื่น(copycat suicide หรือ suicide contagion)จากการได้รับข้อมูล การได้เห็นภาพ ได้ฟังการพรรณนาบรรยายในเรื่องการฆ่าตัวตาย หรือวิธีการฆ่าตัวตายจากสื่อ
ทั้งนี้ มีผลงานวิจัยพบว่าข่าวการฆ่าตัวตายสัมพันธ์กับอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น สัดส่วนมากน้อยตามระยะเวลา ความถี่และปริมาณข่าว โดยการเลียนแบบมักเกิดขึ้นภายหลังการรับข่าวที่น่าสะเทือนใจ บรรยายวิธีการกระทำโดยละเอียด นำเสนอซ้ำบ่อยๆ หรือทำให้คิดว่าเป็นเรื่องน่าประทับใจ เป็นความกล้าหาญ ซึ่งในทางจิตวิทยา การรับข้อมูลข่าวสาร เพียงช่วงเวลาสั้นๆไม่ถึงนาที มีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีแนวโน้มฆ่าตัวตาย กรมสุขภาพจิต จึงขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันป้องกัน โดยในส่วนของผู้มีบทบาทเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารควรดำเนินการด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการให้รายละเอียด วิธีการ ภาพ โดยเฉพาะการฆ่าตัวตายของคนที่มีชื่อเสียง คนดัง ดารา ให้เลี่ยงเสนอข่าวซ้ำๆ ถี่ๆ
ด้าน นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า สาเหตุการฆ่าตัวตายมีหลายปัจจัย ทั้งสาเหตุทางด้านจิตใจและอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้าที่พบมากขึ้นในปัจจุบันเนื่องจากสภาพสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สาเหตุทางด้านจิตวิญญาณ สาเหตุทางด้านสติปัญญา สาเหตุด้านครอบครัว สาเหตุทางด้านพฤติกรรมและสังคม วัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม สาเหตุด้านเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าตัวตายได้สำเร็จ มักมีปัญหาความยุ่งยากใจมากกว่าหนึ่งปัญหาเสมอ ดังนั้นจึงไม่ควรด่วนสรุปสาเหตุการฆ่าตัวตายของคนคนหนึ่ง
สำหรับบุคคลทั่วไปขอให้หมั่นสังเกตคนใกล้ชิด คนในครอบครัว หากพบมีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ แยกตัว ซึ่งเป็นอาการบ่งชี้ของโรคซึมเศร้า หรือคนที่มักพูด หรือโพสต์ข้อความเชิง สั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นสัญญาณเสี่ยงฆ่าตัวตาย ขอให้รีบเข้าไปพูดคุย แสดงความเต็มใจช่วยเหลือ ยอมรับปัญหาของเขา ให้กำลังใจ ไม่ปล่อยให้อยู่ลำพังคนเดียว ชักชวนออกไปทำกิจกรรมข้างนอก และพาไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323 หรือ เรียนรู้ข้อมูลเพิ่มเติมที่แอพพลิเคชั่นสบายใจ (sabaijai) .-สำนักข่าวไทย