รร.เซ็นจูรี่ 6 มี.ค.- ราชวิทยาลัยสูตินรีฯเผยข้อมูลหญิงไทยสูบบุหรี่เสี่ยงตายจากโรคมากกว่าชาย และยังส่งผลให้มีบุตรยาก ทารกแรกเกิดน้ำหนักลด ส่งผลต่อพัฒนาการ ขณะที่ข้อมูลการสูบบุหรี่ รวมถึงการได้รับความบุหรี่มือสองในหญิงในพื้นที่ กทม.ลดลง เหตุเพราะได้รับความรู้ตระหนักสุขภาพ
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดการเสวนา เรื่องพิษของบุรี่ต่อสตรี ยิ่งมีมากกว่าบุรุษ โดย นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการสูบบุหรี่ หญิงไทยในทุกกลุ่มอายุน่าเป็นห่วง โดยพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ในหญิงไทย ในเมืองใหญ่ ลดลง สวนทางกับ หญิงไทยในต่างจังหวัด ทั้งนี้เนื่องจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ด้านสุขภาพและการศึกษา ทำให้ทราบถึงพิษภัยบุหรี่และตระหนักเรื่องสุขภาพมากขึ้น
นพ.ภิเศก กล่าวว่า การสูบบุหรี่ในผู้หญิง รวมถึงการได้รับ ควันบุหรี่มือสองส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่าชาย ทั้งเรื่องการมีประจำเดือน ไม่สม่ำเสมอ ปวดประจำเดือน การมีบุตรยากเพิ่มขึ้นและหากตั้งครรภ์ น้ำหนักของทารกจะลดลง ถึง 200 -250 กรัม มีผลต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก ส่งผลให้น้ำหนักแรกคลอด น้อยกว่า 2,000 กรัม ยังไม่นับเสี่ยงโรคมะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก กระดูกพรุน เกิดภาวะวัยทองเร็วกว่าปกติ มีอาการร้อน หงุดหงิดง่าย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่วัยรุ่นหญิงไทยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ขณะที่วัยรุ่นชายคงที่ อยู่ที่ร้อยละ 21 ซึ่งผลกระทบจากบุหรี่ไม่ใช่แค่การสูบเองเท่านั้น ยังรวมไปถึงควันบุหรี่มือสอง ซึ่งปัจจุบันพบ หญิงไทยกว่า 8 ล้านคนได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน โดยพบว่า ได้รับจากที่ทำงานมากถึง 1.39 ล้านคน รับควันบุหรี่มือสองภายในบ้าน 8 ล้านคน ทั้งนี้พบว่า อัตราการได้รับควันบุหรี่มือสอง พบมากในภาคใต้ ร้อยละ 43.5 รองลงมา ภาคกลาง ร้อยละ 27.6 และเหนือ ร้อยละ 25.9 ขณะที่ กทม. อยู่ที่ร้อยละ 13.2 และยังพบโรคจากการสูบบุหรี่ เส้นเลือดในสมองแตก ตีบ ตัน เฉียบพลัน และหัวใจวาย .-สำนักข่าวไทย