กรุงเทพฯ 26 ก.พ.- ปตท.สผ.ลั่นพร้อมประมูลบงกช -เอราวัณ ระบุในฐานะเป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้น จะเป็นเครื่องมือของรัฐในการผลิตปิโตรเลียม สร้างมูลค่าเพิ่มทุกด้าน เตรียมทั้งเงินและพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการลงทุน โดยแหล่งบงกชจับมือโททาล ส่วนแหล่งเอราวัณยังรอความชัดเจนจากเชฟรอนในการเพิ่มสัดส่วนถือหุ้น
นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการแหล่งปิโตรเลียม”บงกช” กล่าวว่า บริษัทซึ่งถือหุ้นร้อยละ 66.66จะจับมือกับโททาลซึ่งถือหุ้นร้อยละ 33.33 ในการประมูลแหล่งบงกชมั่นใจจะชนะประมูลเพราะบริษัทเตรียมพร้อม มีการซื้อหุ้นแหล่งบงกชจากเชลล์ร้อยละ 22.22 มาเตรียมพร้อม มีประสบการณ์ มีพนักงาน มีการดำเนินการซึ่งปฏิบัติตามได้ตามข้อกำหนดของรัฐบาล ทั้งด้านการสร้างความมั่นคง การดูแลความปลอดภัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีกระแสเงินสด4 พันล้านเหรียญสหรัฐที่พร้อมลงทุน และสิ่งสำคัญ การที่เป็นบริษัทที่รัฐบาลร่วมถือหุ้นก็เป็นสิ่งที่สร้างผลตอบแทนแก่ประเทศในด้านอื่นๆอีกด้วยนอกเหนือทางการเงิน
ส่วนแหล่งเอราวัณรอคำตอบจากบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ว่าจะให้ถือหุ้นมากกว่าปัจจุบันที่ร้อยละ 22 หรือไม่ ซึ่งในขณะนี้การเจรจาก็รอความชัดเจน เอกสารเชิญชวนประมูล (TOR) จากภาครัฐบาล ที่คาดว่าจะออกมาในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.ก็พร้อมทั้งรูปแบบประมูลเองและร่วมกับเชฟรอนในการเข้าประมูลแหล่งเอราวัณ นอกจากนี้ ปตท.สผ.ก็พร้อมจะร่วมมือกับรายอื่นๆในการเข้าร่วมประมูล เช่น มูบาดาลา จากยูเออี หรือบริษัทอื่นๆ เพื่อความเข้มแข็งในการประมูลแต่ทั้งหมดก็รอเพียงทีโออาร์เท่านั้น
“เชื่อว่าบริษัทเรามีประสบการณ์ที่ทำให้ภาครัฐเกิดความมั่นใจว่า สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงกับรัฐ เราเป็นบริษัทไทยที่ไม่หนีหายไปไหน รักษากำลังผลิตตามที่รัฐต้องการ ขีดความสามารถของบริษัทคนไทยก็พร้อม บนแท่นบงกชมีแต่คนไทย เป็นการพัฒนาบุคลากร นั่นหมายถึงบริษัทไทยมีมูลค่ากับภาครัฐกับประเทศ ช่วยให้เกิดความมั่นใจว่ารัฐมีเครื่องมือ มีองค์กรที่รับจะดำเนินการผลิต มีมูลค่ามหาศาล นอกเหนือจากด้านการเงิน ด้านรอยัลตี้ บริษัทเราถือหุ้นใหญ่โดย ปตท. เมื่อมีกำไร รัฐบาลก็ได้เงินปันผลแก่รัฐก็เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ พนักงานของเราก็พร้อมเต็มที่ เรื่องการประมูลนอกเหนือเรื่องกำไรขาดทุนก็เป็นด้านจิตใจที่จะทำเพื่อประเทศ”นายสมพร กล่าว
นายสมพรกล่าวว่า เงื่อนไขหลักทีโออาร์ที่รัฐบาลอาจกำหนด ว่าต้องได้กำลังผลิตต่อเนื่อง 1,500 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวันจากปัจจุบันผลิต 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และราคาจะต้องไม่แพงกว่าปัจจุบันนั้น ในขณะนี้ ทางเอกชนก็กำลังรอรายละเอียดว่า รัฐจะกำหนดให้ดำเนินการอย่างไรที่ไม่ให้เกิดปัญหาต่อทั้งรายเดิมที่ได้สัมปทานในปัจจุบันและรายใหม่ที่ประมูลได้ โดยคาดว่าทางกระทรวงพลังงานจะหาแนวทางให้เปลี่ยนผ่านให้ดีสุด ซึ่งต้องยอมรับว่า หาก รายเดิมประมูลไม่ได้ ในช่วงก่อนหมดสัมปทานกำลังผลิตจะน้อยลง เพราะจะไม่มีการลงทุนสำรวจและผลิตขนาดใหญ่ ซึ่งกรณี ปตท.สผ.ก็ไม่ได้มีแผนลงทุนเช่นกัน แต่หากชนะประมูลก็สามารถวางแผนล่วงหน้าที่จะผลิตเพิ่มได้
นายสมพรกล่าวว่า ในปีนี้การขายปิโตรเลียมคงจะมากกว่าเป้าหมายขายเดิมที่ตั้งไว้ปลายปี 2560ที่ตั้งไว้ 3 แสนบาร์เรล/วัน เนื่องจากยังไม่ได้รวมกับกำลังผลิตบงกชที่ซื้อจากเชลล์ประมาณ 3.5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และยังไม่ได้รวมกับโครงการใหม่ๆที่อาจจะประสบความสำเร็จจากการกำลังเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการ 3-4 แห่ง ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนประมูล ทั้งตะวันออกกลางและอาเซียน โดยเลือกจากโครงการที่มีความเสี่ยงต่ำและต้นทุนการผลิตต่ำ แม้ราคาน้ำมันผันผวนก็ต้องคุ้มทุน โดยคาดว่าจะรู้ผลประมูลได้ในช่วงครึ่งแรกปีนี้
ขณะเดียวกันในปีนี้ปตท.สผ.ก็จะยังคงผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งสิริกิติ์ (S1) ให้อยู่ในระดับราว 27,000-28,000 บาร์เรล/วัน เพื่อชดเชยการผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งอ่าวไทย ที่มีโอกาสจะถูกเรียกก๊าซฯลดลงในช่วงกลางปีนี้ เพราะอาจจะมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามามากขึ้นตามทิศทางราคา LNG ที่จะอ่อนตัวลงในช่วงกลางปี และจะปรับตัวขึ้นในช่วงปลายปีตามสภาพอากาศที่หนาวเย็น
ปตท.สผ.ระบุด้วยว่า แม้ราคาน้ำมันดิบในช่วงต้นปีจะสูงแต่ ปตท.สผ.ยังคิดในแนวอนุรักษ์ยังไม่ปรับราคาจากคาดการณ์เดิมที่มองว่า ปีนี้ ราคาจะอยู่ที่ 55-65 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลในขณะที่ ปี2560อยู่ที่ประมาณ 52-53 ดอลลาร์/บาร์เรล เพราะปีนี้แม้กลุ่มโอเปกและนอกโอเปกอาจจะจับมือลดกำลังผลิต แต่ก็มีกำลังผลิตเพิ่มจากสหรัฐ ในขณะที่ภาวะการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโต จึงคาดว่าการใช้น้ำมันดิบของโลกยังเพิ่มขึ้น 1.5 -1.6 ล้านบาร์เรล/วัน-สำนักข่าวไทย