จุฬาฯ 14 ก.พ.- นักวิชาการเวทีจุฬาเสวนา”สัตว์โลกที่ถูกคุกคาม : วาระที่รอการแก้ไข” ชี้ภาวะสัตว์-พืชสูญพันธุ์ เป็นปัญหารุนเเรงที่สุดของโลก ความหลากหลายของระบบนิเวศเหลือเพียง 1 ใน 3 เเนะใช้กฎหมายตรงไปตรงมา เเก้ปัญหาจริงจังเเละใส่ใจดูเเลเด็ก ลดพฤติกรรมก้าวร้าวระยะยาว
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 11 เรื่อง “สัตว์โลกที่ถูกคุกคาม : วาระที่รอการแก้ไข” เพื่อเป็นเวทีวิชาการสาธารณะเผยแพร่ความรู้จากนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิ หลังเกิดข่าวมีผู้บุกรุกป่าเเละล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งถือเป็นเเหล่งมรดกโลกของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การเเก้ปัญหาไม่ให้สัตว์ถูกคุกคามอีกต่อไป
นางสรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว กล่าวว่า นานาชาติได้สำรวจสถานการณ์ของโลกล่าสุดในปี 2015 พบว่า สิ่งที่ต้องรับมือเพราะเป็นปัญหาที่รุนเเรงมากที่สุด คือการสูญพันธุ์เเละการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งรุนเเรงมากกว่าเรื่องภาวะโลกร้อน ปัจจุบันมีความหลากหลายของสัตว์เหลือจำนวนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
สัตว์ 1 ตัวที่หายไปโดยไม่ใช่วิธีทางธรรมชาติ ย่อมส่งผลต่อระบบห่วงโซ่อาหารทั้งระบบนิเวศน์ ทำให้ขาดความสมดุลทางธรรมชาติ อย่างกรณีเสือดำ ถือว่าเป็นสัตว์ที่เป็นผู้บริโภคสูงสุดในระบบห่วงโซ่อาหาร เมื่อตายไปโดยการถูกฆ่า สัตว์อื่นๆก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย รวมถึงพืชก็จะมีการสูญพันธุ์ตามมาด้วย ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ ที่ไปฆ่าเเละล่าสัตว์โดยตรง เเก้ด้วยการหยุดทำลาย เเละเลือกใช้บริการจากธรรมชาติที่ไม่กระทบถึงโครงสร้างของระบบนิเวศน์ หรือการหาทางออกบนฐานของธรรมชาติ
ด้านนายวิเชฏฐ์ คนซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในมุมมองของนักชีววิทยามองว่า เมื่อสัตว์ตายไปหรือถูกคุกคามในทุกทาง จะทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ทางพันธุกรรม ชนิดเเละที่อยู่อาศัย เกิดการเปลี่ยนเเปลงของธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม ซึ่งจะส่งผลถึงเรื่องปัจจัยสี่ที่มนุษย์ต้องการ โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางอาหารเเละการล่มสลายของระบบนิเวศน์ซึ่งมนุษย์ก็ถือเป็นหนึ่งในระบบนิเวศ
ขณะที่นายสมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าพฤติกรรมการชอบล่าสัตว์ ถือเป็นปัญหาโลกเเตกที่เเก้ได้ยาก เเต่สามารถลดจำนวนได้ ในทางจิตวิทยาคนเราเมื่อเกิดมาจะมีสัญชาตญาณ 2 อย่างติดตัวมาได้เเก่ สัญชาตญาณเพื่อการดำรงชีวิตเเละการทำลายล้าง ซึ่งคนที่ล่าเเละฆ่าสัตว์จะมองว่าตนไม่ได้ทำผิด จากการสำรวจหลายกรณีศึกษาบุคคลที่ชอบล่าสัตว์ พบว่า บุคคลที่ทำส่วนใหญ่เป็นผู้มีอำนาจทางการเงินสูง หลงตัวเอง ไม่เข้าใจเเละชอบบงการผู้อื่น ต้องการหาความตื่นเต้นในชีวิต มีจิตผิดปกติ ยิ่งฆ่าสัตว์ได้ยิ่งมีความสุข ล่าเพื่อความสนุกสนาน บันเทิง หรือเกมกีฬา เมื่อมองถึงในอดีตพบว่า กลุ่มคนดังกล่าวชอบทำร้ายสัตว์มาตั้งเเต่เด็ก ทางเเก้ปัญหาให้เหตุการณ์นี้เริ่มทำได้ตั้งเเต่เด็ก ผู้ปกครองควรดูเเลเด็กไม่ให้ทำร้ายสัตว์ เพราะจะเป็นพฤติกรรมติดตัว ส่งผลให้มีการล่าสัตว์เพื่อความบันเทิงในอนาคต
ส่วนในกรณีที่ล่าเพื่อธุรกิจต้องใช้กฎหมายดูเเล ตรงไปตรงมา เเต่บ้านเรามีระบบอุปถัมภ์เยอะอาจเเก้ไขได้ยาก คนที่ทำงานด้านสิ่งเเวดล้อมของประเทศต้องทำงานอย่างจริงจัง ให้การศึกษาเพื่อลบล้างความเชื่อผิดๆ ขณะที่ในส่วนของนายพราน ซึ่งเป็นอาชีพที่มีการล่าสัตว์นั้นมองว่า ลดปัญหานี้ได้ โดยการลดความต้องการของคนที่จะไปซื้อของป่า เพราะนายพรานอาจทำไปเพื่อความอยู่รอดไม่ใช่พฤติกรรมทางจิต
ส่วนนายโสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องล่าสัตว์อย่างในอดีตเพื่อความอยู่รอดเพราะมีการปศุสัตว์ที่ดีขึ้น เเต่การล่าสัตว์ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ น่าจะเกิดจากความเชื่อผิด ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้น ที่ทำให้สัตว์ถูกล่า ทั้งการกินเนื้อเสือจะช่วยเพิ่มสมรรถนะทางกายให้สุขภาพเเข็งเเรงขึ้น ล่าเเรดเพื่อเอานอมาทำยา เป็นต้น ซึ่งด้วยโลกที่เปลี่ยนไปเเต่พฤติกรรมคนยังไม่เปลี่ยนเเปลง อาจจะเพราะปัญหาโครงสร้างทางสังคม วัฒนธรรมเเละความเหลื่อมล้ำ .-สำนักข่าวไทย