สำนักข่าวไทย 10 ก.พ.-กว่าพลเรือนหนึ่งคนจะมีปืนในครอบครองอย่างถูกกฎหมายอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่จำนวนปืนที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องในปัจจุบันมีมากกว่า 6 ล้านกระบอก สะท้อนภาพขั้นตอนการขอใบอนุญาตอาจยังเข้มงวดไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับจำนวนการครอบครองอาวุธปืนของคนไทย เมื่อปี พ.ศ.2555 มีตัวเลขของผู้ขึ้นทะเบียนอาวุธปืนถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งสิ้นสูงถึงจำนวน 6,221,180 กระบอก แบ่งเป็น อาวุธปืนสั้น 3,744,877 กระบอก อาวุธปืนยาว 2,476,303 กระบอก หากนำจำนวนประชากรทั้งประเทศ มาคำนวณกับจำนวนปืนที่ขึ้นทะเบียน พบว่า หรือ ทุกๆ 10 คน จะพบคนผู้ที่มีปืน 1 คน ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมถึงปืนที่ไม่ได้ขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 500,000 กระบอก
หากมาดูขั้นตอนการขึ้นทะเบียนอาวุธปืนในปัจจุบัน สรุปคร่าวๆ ได้ดังนี้ ผู้ซื้อปืนจะต้องยื่นคำขอขึ้นทะเบียนอาวุธปืนได้ที่ศูนย์บริการประชาชน กลุ่มงานอาวุธปืน (วังไชยา) กรมการปกครอง เขตดุสิต กทม. หากเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถยื่นได้ตามที่ว่าการอำเภอทุกแห่งทั่วประเทศ โดยผู้ซื้อทั้งที่เป็นข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการบำนาญ หรือประชาชนทั่วไป เอกสารหลักฐานหลักๆ ที่ต้องใช้ ได้แก่
1) สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หากเป็นข้าราชการใช้สำเนาบัตรข้าราชการหรือบัตรข้าราชการรัฐวิสาหกิจ
2) ข้าราชการต้องมีหนังสือรับรองความประพฤติจากผู้บังคับบัญชา (ที่ออกให้ไว้ไม่เกิน 6 เดือน) หากเป็นประชาชนทั่วไป ต้องมีหลักฐานการประกอบอาชีพ เช่น ใบทะเบียนพาณิชย์ หนังสือรับรองตำแหน่งหน้าที่เงินเดือน หากเป็นการงานที่ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ อาทิ เกษตรกรรม หรือรับจ้าง ค้าขายต่างๆ ให้แนบถ่ายภาพกิจการอย่างน้อย 4 ภาพ พร้อมด้วยสำเนาหลักทรัพย์ เช่น สำเนาโฉนดที่ดิน รายการเงินฝาก สำเนาสมุดบัญชีธนาคาร หรือหลักฐานอื่นๆ
3) สำเนาบัตรสมาชิกกีฬายิงปืน ซึ่งเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 610 วัน และหนังสือรับรองจากสนามกีฬายิงปืน (เฉพาะการขอซื้อปืนเพื่อการกีฬา หรือขอซื้อปืนชนิดเดี่ยวไรเฟิล ทุกขนาด และอาวุธปืนขนาด .410 / 044 / .45 / .357)
4) หลักฐานที่แสดงว่าผ่านการฝึกอบรมการใช้อาวุธปืน
5) กรณีซื้อปืนสวัสดิการ ต้องมีหนังสือตอบรับการเข้าร่วมโครงการ
6) สำนาใบอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมายอาวุธปืนฯ หรือ ป.4 ที่มีอยู่ในครอบครอง ณ ปัจจุบัน ทุกกระบอก
ส่วนค่าธรรมเนียมในการยื่นขอใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน ปืนยาวบรรจุปากปืนอัดลมฉบับละ 100 บาท ปืนอื่นๆ ฉบับละ 500 บาท ก่อนเจ้าหน้าที่จะตรวจเอกสารหลักฐาน ใช้ระยะเวลาในการพิจารณา 30 วัน โดยผู้พิจารณาอนุญาต คือ นายทะเบียนท้องที่ สำหรับกรุงเทพฯ เช่น ผู้บังคับการกองทะเบียน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นต้น ในส่วนภูมิภาค คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และปลัดอำเภอ เป็นต้น
ส่วนการออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวหรือพกพา ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต คือ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเท่านั้น แต่หากมีไว้พกพาเฉพาะเขตจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด สามารถพิจารณาอนุญาตให้พกติดตัวเฉพาะในเขตจังหวัดนั้นๆ ได้ ดูเหมือนว่าการขึ้นทะเบียนอาวุธปืนจะเป็นเรื่องยุ่งยาก และเข้มงวด อีกทั้งกฎหมายปัจจุบันจะ “จำกัด” การถือครองอาวุธปืนพลเรือน โดยให้ปืนสั้น 1 กระบอก และปืนยาว 1 กระบอก แต่ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ กรณีบางคนที่มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองกว่า 10 กระบอก อาจมีไว้เพื่อการสะสม เจ้าหน้าที่ก็จะอนุญาต หรือหากเป็นนักกีฬายิงปืน มีบัตรสมาชิกสนามยิงปืนมายืนยัน ก็จะได้รับการอนุญาตให้ถือครองมากกว่า 1 กระบอกได้เช่นกัน
ขณะที่ปืนเถื่อนหรือปืนไม่มีทะเบียน มักถูกลักลอบนำเข้ามาทางชายแดน หลายช่องทาง อาทิ กองทัพมดผ่านเส้นทางป่าเขา หรือไม่ก็ทางเรือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปืนที่ตกค้างจากการทำสงครามของเพื่อนบ้าน นำมาขายต่อให้พ่อค้าอาวุธในไทย ซึ่งประกาศขายดาษดื่นในโลกออนไลน์ นำมาซึ่งการก่ออาชญากรรม.-สำนักข่าวไทย