พรรคเพื่อไทย 17ม.ค.- เพื่อไทย เดินหน้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญ บ่ายวันนี้ให้วินิจฉัย คำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ปมแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ชี้ เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ริดรอนสิทธิพรรคการเมือง
คณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวการยื่นคัดค้านคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประเด็นการแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ในคำสั่งที่ 53/2560 รวมถึงท่าทียื่นศาลรัฐธรรมนูญ โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ นายภูมิธรรม เวชชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงว่า ตามที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งดังกล่าวมานั้น ถือเป็นปัญหาที่ว่าด้วยความชอบตามรัฐธรรมนูญในหลายประการ และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 เป็นเหตุโดยชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของคำสั่งดังกล่าวว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ นั้น โดยเฉพาะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ประกาศใช้และลงราชกิจจานุเบกษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ต้องเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ดังนั้นการที่หัวหน้า คสช.ออกคำสั่งแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเท่ากับเป็นการลบล้างกระบวนการตรากฎหมายตามรัฐธรรมนูญ
พล.ต.ท.วิโรจน์ กล่าวว่า การออกคำสั่งที่มีผลเป็นการลบล้างสมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมือง มิใช่การออกกฎหมายจำกัดสิทธิเท่านั้น แต่เป็นการยกเลิกสิทธิของการเป็นสมาชิกพรรค จึงกระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพของบุคคลและยังเป็นการเพิ่มภาระแก่สมาชิก ขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ได้มอบอำนาจให้คณะทำงานและทนายของพรรคเพื่อไทย เข้ายื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ตรวจการแผ่นดิน การที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ คสช.ในการออกคำสั่งชอบด้วยกฎหมายนั้น ตนเห็นว่า การจะทำให้คำสั่งชอบด้วยกฎหมาย ก็ต้องให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญด้วย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากพรรคเพื่อไทยเดินหน้ายื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ในกฎหมายฉบับนี้ยังคงบังคับใช้อยู่ จะเป็นเรื่องยากต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ เพราะมีข้อจำกัดบางอย่างที่ขึ้นอยู่กับความพอใจของ คสช.ว่าจะปลดล็อกเมื่อใด ภารกิจของคสช. คือการสร้างความปรองดอง แต่คำสั่งคสช.ที่53/60 ดังกล่าวกลับสร้างความขัดแย้ง และเป็นการสร้างปัญหาใหม่แทนที่จะแก้ปัญหาเดิม คล้ายกับการเกาไม่ถูกที่คัน จึงเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญ.-สำนักข่าวไทย