กทม. 16 ม.ค.-บทบาทของครูไทยท่ามกลางสถานการณ์ภาวะซึมเศร้าในเด็กที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังพบนักเรียนป่วยเป็นโรคทางจิตเวช อาทิ สมาธิสั้น ไบโพลาร์ และซึมเศร้า สูงขึ้นร้อยละ 20 ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการรับมือของครูเพื่อดูแลเด็กได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
ใส่ใจ รับฟัง คอยสังเกตคือหลักการทำงานที่ครูวิภา ครูวิชาแนะแนว ใช้ดูแลน้องเมย์ (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.3 ซึ่งป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เคยคิดฆ่าตัวตาย เพราะครอบครัวละเลย เพื่อนไม่สนใจ ไม่เห็นคุณค่าตนเอง เก็บกดมาตั้งแต่ชั้นประถม น้องรู้สึกดีขึ้นหลังได้ระบายกับครู ความทุกข์คลายลง สุขเพิ่มขึ้น เพราะคนรอบข้างใส่ใจ อนาคตตั้งใจเป็นจิตแพทย์ เพื่อช่วยผู้อื่น หลังพบมีเพื่อนซึมเศร้าจำนวนมาก เพราะการเรียนที่แข่งขันสูง ส่วนแม่ตกใจ เมื่อนึกย้อนดูการกระทำ/ที่ไม่ใส่ใจลูก โชคดีที่ครูสังเกต จึงรักษาได้ทันและคลายปมในใจซึ่งกันและกัน
เม คือหนึ่งในนักเรียนที่เดินมาหาครูวิภา ครูด้านจิตวิทยา ซึ่งตลอด 37 ปี พบนักเรียนเป็นไบโพลาร์ เก็บตัวและซึมเศร้า และเพิ่มมากขึ้นในยุคดิจิทัล สื่อออนไลน์มีอิทธิพลสูง เด็กเสพติดยอดไลค์ แต่ชีวิตจริง หลีกเลี่ยงสังคม เล่นแต่มือถือ
สาเหตุคือเด็กเห็นคุณค่าตนเองต่ำ รับไม่ได้เมื่อไม่เป็นที่ชื่นชอบ พ่อแม่กดดัน ครูจึงเป็นตัวกลางช่วยรับมือปัญหาด้วยใจ เข้าใจเด็ก เท่าทันโรค เป็นผู้ฟังที่ดี มีทักษะการสื่อสาร อย่าใจร้อนและครอบงำความคิดเด็ก
การดูแลเด็กหลังมีอาการครูจะเข้าไปหาสาเหตุของการซึมเศร้า ถามความต้องการ และประเมินว่าใครบ้างเกี่ยวข้อง ฟังมุมมองของพ่อแม่และเพื่อน ทำกระบวนการกลุ่มเพื่อปรับความเข้าใจ หาบัดดี้ดูแลเด็กต่อเนื่อง และหากมีอาการผิดปกติทางสมองจะส่งแพทย์ทันที การดูแลจะสมบูรณ์ต้องมีเวลาให้เด็ก แต่การศึกษาปัจจุบันมุ่งเน้น 4.0 แต่ไม่พัฒนาใจ ลืมความสำคัญของความสัมพันธ์ในชั้นเรียน
เด็กคือเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตเป็นประโยชน์ต่อประเทศ หน้าที่ครูต้องบ่มเพาะ หากแคระเกร็น ไม่ใช่คัดทิ้งแต่ต้องประคับประคอง เช่นเดียวกับเด็กที่ปัญหาทางจิตทั้งซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเด็กประถมสมาธิสั้นอีกกว่า 1 ล้าน ที่ต้องช่วยเร่งการดูแล ซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญหลักของแม่พิมพ์ของชาติ.-สำนักข่าวไทย