รัฐสภา 21 ธ.ค.- สนช. ค้านเพิ่มอำนาจป.ป.ช.ล้วงข้อมูลดักฟังโทรศัพท์ หวั่นเป็นภัยทางการเมือง หยิบมาทำลายคู่ต่อสู่ทางการเมืองในอนาคต ขณะที่ กรรมาธิการเสียงข้างมากยืนตามที่เสนอ ยันไม่ได้มุ่งทำร้ายใคร มีกระบวนการตรวจสอบก่อนบังคับใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)วันนี้ (21 ธ.ค.) พิจารณาร่างพระพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งร่างกฎหมายนี้มี 193 มาตรา กรรมาธิการฯ แก้ไขไป 99 มาตรา เพิ่ม 14 มาตรา และตัดออก 6 มาตรา
สมาชิกสนช.อภิปรายรายมาตราตั้งแต่ในส่วนคำปรารภ ขอให้ตัดมาตรา36ต่อเนื่องไปถึงมาตรา 37 ประเด็นที่กรรมาธิการปรับแก้เพิ่มอำนาจ ให้ กรรมการป.ป.ช. ล้วงข้อมูล ดักฟังโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ที่ส่อทุจริตโดยเห็นควรให้ทบทวน
นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายตั้งแต่คำปรารภ ยกเว้นเรื่องการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ต้องไม่ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ และขอให้ตัดตั้งแต่มาตรา 36 ต่อเนื่องมาตรา 37 โดยเฉพาะเรื่อง อำนาจในการตรวจสอบข้อมูล ในกรณีมีเหตุอันควรควรเชื่อได้ว่าข้อความใดที่ส่งทางไปรษณีย์ หรือส่งทางอิเล็กทรอนิกส์เจ้าหน้าที่ป.ป.ช.สามารถขออนุญาตให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารดังกล่าว ซึ่งเป็นการการให้อำนาจในการดักฟัง ดักรับข้อมูล เป็นเสมือนดาบสองคม หากไปอยู่ในมือคนไม่ดี จะเป็นอันตราย ทั้งนี้เห็นว่าในอดีตการทำงานของป.ป.ช.ในคดีสำคัญ ๆ เช่นคดีจำนำข้าว ก็ไม่ได้อำนาจในส่วนนี้ ก็สามารถรวบรวมพยานหลักฐาน และดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริต และเจ้าพนักงานไปไต่สวน และกรณีนี้จะเป็นภัยทางการเมืองสำหรับทุกคน
“หากป.ป.ช.ท่านขออำนาจศาลตรวจสอบนักการเมืองข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เพื่อตรวจสอบเรื่องทุจริต แต่ท่านอาจไปเจอเรื่องอื่นด้วยในการไปดักฟัง ซึ่งข้อเท็จจริงเคยมีการแบล็คเมล์เกิดขึ้นมากมายไปหมด อำนาจนี้จะกลับมาเล่นงานคนที่อยู่ในฝ่ายบริสุทธิืทั้งหมด เพราะแค่สงสัย ก็สามารถร้องขอตรวจสอบได้ ซึ่งจะนำไปสู่ภัยทางการเมืองของทุกคน”นายสมชาย กล่าว
นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. ขอความชัดเจนก่อนตัดสินใจว่า กรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า และคณะกรรมการต้องขออนุมัติจากอธิบดีศาลอาญา และต้องขอข้อมูลจากป.ป.ง.ใช่หรือไม่
พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม สนช. ตั้งข้อสังเกตว่า หากป.ป.ช.ที่ร่วมเป็นกรรมาธิการลงมติเพิ่มอำนาจเรื่องดังกล่าวจะถือว่า ผลประโยชน์ขัดแย้งต่อการทำหน้าที่ของป.ป.ช.ได้
นายตวง อันทะไชย สนช. อภิปรายโดยยกมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การตรากฎหมายต้องไม่มีผลต่อการจำกัดสิทธิเกินควรกว่าเหตุ เพื่อให้กรรมาธิการทบทวน เพราะเกรงว่าอาจมีการหยิบยกข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองในอนาคต พร้อมกังวลการที่ระบุว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าทุจริตเป็นเรื่องของการใช้ดุลยพินิจซึ่งสามารถพิจารณาทางหนึ่งทางใด และนำไปสู่การกลั่นแกล้่งทางการเมืองได้ และที่ผ่านมาในเคยมีอดีตนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งใช้กฎหมายลักษณะนี้ ที่เป็นบทบัญญัติในป.ป.ง. มาทำลายกันทางการเมือง
พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการฯชี้แจงว่าการเพิ่มมาตราดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่จะต้องมีหลักฐานอ้างในศาลได้ เพราะแม้ได้ผลมาแล้ว แต่ถ้าไม่มีที่มาที่ไป ศาลก็ไม่รับฟัง ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาทำร้ายใคร และก่อนที่จะมีการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้นได้ จะต้องขออนุมัติจากศาลก่อน
นายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย และอดีตกรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า การใช้กฎหมายต่างๆในการตรวจสอบ ล้วนเป็นไปตามสนธิสัญญาการต่อต้านการทุจริต แต่ถ้าให้อำนาจป.ป.ช.มากเกินไปอาจจะกระทบกระเทือนเสถียรภาพขององค์กรได้ และถือเป็นการบั่นทอนอำนาจของรัฐ และประเด็นนี้ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวที่สุด เพราะที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ดำเนินการในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลแบบนี้ และเขียนไว้ในกฎหมายที่ไม่ได้ขออนุญาตศาลและอัยการ เพราะเมื่อข้อมูลไปถึงศาลแล้วหลุด ไม่เป็นที่ไว้วางใจ จึงจะเห็นว่าขนาดองค์กรที่มีอยู่แล้วยังไม่ไว้วางใจองค์กรซึ่งกันและกัน จึงอยากให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ ไม่เช่นนั้น “ดาบนั้นจะคืนสนอง”ได้
พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ ประธานป.ป.ช. และกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า การพูดว่าดักฟังทำให้คนหลงประเด็น เพราะสิ่งที่กมธ.เสียงข้างมากเสนอนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ซึ่งป.ป.ช.ไม่ได้จ้องจะไปดักฟังคนอื่น เพราะต้องมีการกล่าวหา ตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยต้องผ่านมติป.ป.ช.ก่อน และต้องส่งความเห็นไปขออธิบดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ ว่าจะอนุญาตหรือไม่ รวมทั้งต้องเป็นฐานความผิด จะใช้เฉพาะคดีที่สำคัญและกระทบกับอย่างกว้างขวาง ต้องพิจารณาถึงเหตุผลความจำเป็นเท่านั้น หากป.ป.ช.ไม่รอบคอบปล่อยให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการ ป.ป.ช.จะต้องถูกดำเนินการ เพราะมีบทบัญญัติของการตรวจสอบอำนาจของป.ป.ช.อยู่แล้ว และปัจจุบันมีรัฐภาคีอนุสัญญา UNCAC ที่ได้อนุวัติตามสนธิสัญญาถึง 80 ประเทศที่ใช้วิธีสอบสวนวิธีพิเศษในลักษณะนี้ ซึ่งหากไทยไม่มีบทบัญญัตเช่นนี้ อาจจะถูกประเมินในเรื่องของการป้องกันเรื่องทุจริต และหากถูกประเมินต่ำ ก็จะมีปัญหาตามมา นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144วรรคท้ายบอกให้ป.ป.ช.สอบสวนทางลับโดยพลัน กรธ.จึงจำเป็นต้องมีเครื่องมือในการทำงาน
“ถ้าท่านไม่ให้โอกาสเราเข้าสู่ข้อมูลข่าวสาร อย่าพูดว่าดักฟังครับ มันแสลงใจท่านผมและท่านทุกคน มันแค่ไลน์เองครับ แต่มันเป็นสิทธิส่วนบุคคล เราไม่สามารถไปบอกบริษัทซึ่งเป็นผู้ให้บริการเพื่อขอข้อมูลมาตรวจสอบได้ ถ้าไม่มีกฎหมายให้อำนาจ เพราะเขาจะละเมิดสิทธิของท่าน คณะกรรมการป.ป.ช.ไม่มีเจตนารมณ์ใดที่จะไปละเมิดสิทธิของพี่น้องประชาชน แต่เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อจะเอาให้คนทุจริต ประพฤติมิชอบกระทำผิดตามฐานกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ ซึ่งสองปีที่ผ่านมาเราได้เร่งรัดเร่งรีบจนกระทั่งคนลาออกไปหลายคน เพราะสู้งานไม่ไหว กลัวจะบกพร่องและกรอบเวลาที่กรธ.กำหนด เราก็คิด เราก็ทำ เราออกระเบียบก่อนด้วยซ้ำ แต่ท่านไม่ใช่คนปฏิบัติ จึงไม่ค่อยเข้าใจ เราจึงต้องชี้แจงเหตุผล ถ้าท่านไม่ให้โอกาสวันนี้ แล้วให้ป.ป.ช.ทำงานเหมือนเดิม แต่บอกว่าเป็นมิติใหม่ ผมก็อยากจะฟังว่ามาตรา 144 ที่ให้สอบสวนทางลับโดยพลัน หลายความว่าอย่างไร”พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกยังคงมีการอภิรายในประเด็นนี้กันอย่างกว้างขวาง และมีข้อเสนอให้กรรมาธิการเสียงข้างมาก นำมาตรานี้ ไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อไม่ให้กระทบกับสิทธิของประชาชน ประธานในที่ประชุมจึงสั่งพักการประชุม 10 นาที หลังจากนั้นประธานได้แจ้งว่า ระหว่างพักการประชุม ได้มีการหารือกันระหว่างกรรมาธิการเสียงข้างมาก กรรมาธิการเสียงข้างน้อย และวิป สนช. แต่กรรมาธิการเสียงข้างมาก ยังคงยืนยันที่จะคงบทบัญญัติดังกล่าวไว้ และขอชี้แจงในข้อสงสัยที่สมาชิกอภิปรายมาและยังไม่ได้ตอบบางส่วน จึงเห็นว่าให้เลื่อนการประชุมไปประชุมต่อพรุ่งนี้ 09.00 น..-สำนักข่าวไทย