กรุงเทพฯ 10 ธ.ค. – 3 แบงก์รัฐเร่งโอนเงินสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเกษตรกร ด้าน ธ.ก.ส.และออมสินวอนผู้ลงทะเบียนมาเปิดบัญชีด่วย เพื่อรับโอนเงิน หลังพบมีผู้ยังไม่เปิดบัญชีราว 1.6 แสนราย
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการช่วยเหลือและจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเกษตรกร ในวงเงินรายละ 1,500-3,000 บาท โดยรวม 2 วันที่โอนตั้งแต่ วันที่ 9-10 ธ.ค. ธนาคารออมสิน ได้ดำเนินการโอนเงิน 1,286,820 ราย คิดเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 2,878,183,500 บาท สามารถตรวจสอบผลการรับโอนเงินได้ที่ www.epayment.go.th และ www.gsb.or.th อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ที่ลงทะเบียนกับธนาคารฯ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากกระทรวงการคลังแล้ว อีกประมาณ 8 แสนกว่าราย ที่สืบค้นไม่พบบัญชีเงินฝากจึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ลงทะเบียนกับธนาคารออมสินและผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติที่ยังไม่มีบัญชีเงินฝาก ติดต่อสาขาของธนาคารออมสินที่ผู้ลงทะเบียนสะดวก เพื่อเปิดบัญชี และเมื่อเปิดบัญชีแล้วธนาคารฯ จะได้โอนเงินเข้าบัญชีให้ต่อไป
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้รับข้อมูลผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากกระทรวงการคลังแล้วในวานนี้ (9 ธ.ค.)จำนวน 3.8 ล้านราย ซึ่งจะสามารถโอนเงินเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐกับ ธ.ก.ส. ได้ทั้งสิ้น 3 ล้านราย ภายในวันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม 2559 เนื่องจากผู้ลงทะเบียนกลุ่มนี้คุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของรัฐบาลและมีบัญชีเงินฝากที่ ธ.ก.ส. จึงสามารถโอนเงินเข้าบัญชีได้ทันที โดยระบบจะทยอยประมวลผลการโอนเงินตั้งแต่เวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 9 ธ.ค. ผู้ที่ได้รับสิทธิ์สามารถเบิกเงินได้ในวันรุ่งขึ้น
ส่วนผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้วและยังไม่มีสมุดบัญชีเงินฝากอีก 8 แสนราย ขอให้มาติดต่อเปิดบัญชีได้ที่ ธ.ก.ส. สาขาที่ท่านลงทะเบียนไว้เพื่อธนาคารจะได้โอนเงินช่วยเหลือตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลต่อไป
ด้านธนาคารกรุงไทย โอนเงินผู้มีรายได้น้อยแล้ว 300,000ราย จากผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 1.03 ล้านราย
ทั้งนี้ ผู้ได้รับการช่วยเหลือในครั้งนี้มีทั้งหมด 8 ล้านราย จากผู้สมัครเข้าโครงการ 8.3 ล้านราย โดยรายชื่อคัดออก 3 แสนรายเนื่องจากรายชื่อซ้ำซ้อน และ มีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่กำหนด เช่นรายได้เกิน 1 แสนบาทต่อปี เป็นต้น โดยโครงการนี้ แยกเป็นผู้สมัคร โครงการดูแลค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยนอกภาคเกษตร จำนวน 5.4 ล้านราย วงเงิน 12,750 ล้านบาท และเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย 2.9 ล้านราย วงเงิน 6,000 ล้านบาท -สำนักข่าวไทย