ก.ยุติธรรม 20 พ.ย.-รองปลัด ยธ.ยอมรับคำตัดสินศาล คดี ‘ครูจอมทรัพย์’ พร้อมเตรียมปรับการให้ความช่วยเหลือ “แพะ” ในอนาคต ชี้การเข้าไปช่วย เหลือเพราะผลตรวจเครื่องจับเท็จ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าครูจอมทรัพย์ให้การจริงหรือเท็จ
พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดใจถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นมาพิจารณาใหม่ของนางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการครูใน จ.สกลนคร ผู้ที่เคยต้องโทษจำคุก3 ปี 2 เดือนขับรถประมาทชนคนตาย โดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนครพนม อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ไม่เปลี่ยนแปลงคำพิพากษาคดีครูจอมทรัพย์ เชื่อมีขบวนการรับจ้างรับผิดแทน ซึ่งถือว่าสิ้นสุดคดีนี้แล้ว ว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาครูจอมทรัพย์ ได้เข้ามาขอความเป็นธรรมกับกระทรวงฯ จึงมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ การตรวจสอบเอกสารและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด พบว่าในส่วนของพยานยังไม่ได้ให้การผ่านเครื่องจับเท็จ จึงสั่งการให้พนักงานสอบสวนนำตัวนายสับ วาปี และนายสุริยา นวลเจริญ หรือครูอ๋อง เพื่อนสนิทของครูจอมทรัพย์มาเข้าเครื่องจับเท็จ ผลปรากฏว่าทั้งสอง ไม่ผ่านเครื่องจับเท็จ บ่งชี้ว่าให้การไม่เป็นความจริง และอาจมีการสร้างพยานหลักฐานเท็จ ขณะนั้นได้หารือกับ พล.ต.อ.ปัญญา มาเม่น ที่ปรึกษาสบ. 10 ถึงประเด็นดังกล่าว และเชื่อว่ามีขบวนสร้างหลักฐานเท็จ รับจ้างติดคุกแทนซึ่งคดียังอยู่ในอายุความ ตำรวจสามารถดำเนินคดีได้
ส่วนครูจอมทรัพย์ผลปรากฎว่ากราฟไม่สามารถระบุผลออกมาได้ว่าจริงหรือเท็จ ถ้าผลออกมาเป็นเท็จก็คงจะไม่ให้การช่วยเหลือ แต่เมื่อผลออกมาเช่นนี้ ก็เลยเป็นเหตุผลที่ตัดสินใจช่วยเหลือด้วยการนำหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เข้าพิสูจน์ ยืนยันต่อสู้โดยผลการตรวจสอบสภาพรถยนต์คันเกิดเหตุของครูจอมทรัพย์ ผลตรวจชี้ว่ารถคันดังกล่าวไม่เคยเกิดอุบัติเหตุมาก่อน แต่เมื่อศาลมีคำพิพากษาออกมาก็ต้องยอมรับในคำตัดสินของศาล
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวอีกว่า คดีนี้ต้องแยกให้ชัดระหว่างการสร้างหลักฐานเท็จกับการร้องขอความยุติธรรม การสร้างหลักฐานเท็จเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ให้ความเป็นธรรม จนทำให้ประชาชนไม่มั่นใจว่าจะได้รับความเป็นธรรม จนต้องสร้างหลักฐานเท็จ
“ล่าสุดได้คุยกับครรูจอมทรัพย์แล้วครูเองก็บอกว่าตอนนี้ก็ต้องยอมรับสภาพ ซึ่งคำว่ายอมรับสภาพเป็นคนละเรื่องกับยอมรับสารภาพ เพราะถึงอย่างไรทุกคนต้องเคารพในคำตัดสินของศาล” พ.ต.อ.ดุษฎี กล่าว
ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้ที่อ้างตัวว่าเป็น “แพะ” ในครั้งต่อไป รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า แน่นอนว่าจะต้องมีการทบทวนสิ่งที่กระทรวงฯได้ทำลงไปในการช่วยเหลือครั้งที่ผ่านๆมา แต่กระทรวงฯก็มีหน้าที่ทำให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมในข้อกฎหมาย และถือเป็นหน้าที่ของข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมทุกส่วนที่ต้องช่วยเหลือประชาชนเพราะต่างได้รับเงินเดือนจากภาษีของประชาชน
“ประเทศไหนที่เจริญแล้ว จะวัดกันที่การเข้าถึงระบบไม่กี่เรื่อง ก็จะมี ระบบสาธารณสุข การศึกษา และกระบวนการยุติธรรม ถ้าประชาชนยังเข้าไม่ถึงความยุติธรรมก็แสดงว่าประเทศยังล้าหลังอยู่” รองปลัดยุติธรรมกล่าว .-สำนักข่าวไทย