ลพบุรี 15 ต.ค.- ชาวบ้านท่าวุ้ง ลพบุรี ได้อาชีพทำประมงเพิ่มหลังทำนาจากโครงการพระราชดำริแก้มลิงหนองสมอใส ผนึกเป็นชุมชนพอเพียงอนุรักษ์ไม่จับสัตว์น้ำฤดูวางไข่ เผย 3 ตำบลไม่ท่วม-แล้งซ้ำซากเหมือนก่อน รวมกลุ่มบริหารจัดการน้ำมีใช้ตลอดปี
นายคนอง เอมถมยา กำนันตำบลบางคู้ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า ในพื้นที่อำเภอท่าวุ้งมีโครงการพระราชดำริ โดยเฉพาะโครงการแก้มลิงหนองสมอใส ในพื้นที่ 2 ตำบล คือตำบลบางคู้และตำบลบางลี่ บนเนื้อที่ 280 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา (เป็นพื้นที่แก้มลิงประมาณ 113 ไร่) อยู่ระหว่างบริเวณพื้นที่ฝั่งขวาของคลองระบายน้ำชัยนาท-ป่าสัก 3 (แม่น้ำบางขาม) และฝั่งซ้ายของคลองระบาย 1 ซ้าย-ลพบุรี (คลองบางคู้) ซึ่งทำหน้าที่เป็นคลองระบายน้ำในเขตชลประทาน ส่วนด้านทิศใต้ของหนองมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 311 (ถนนสายลพบุรี-สิงห์บุรี) ผ่านโดยการดำเนินงานของมูลนิธิชัยพัฒนา ถือเป็นแหล่งเก็บน้ำของอำเภอท่าวุ้งซึ่งสามารถเก็บกักน้ำได้ 864,000 ลบ.ม. ซึ่งน้ำจากโครงการแก้มลิงนี้ชาวบ้านใน 3 ตำบลประกอบด้วย บางลี่ บางคู้ และโพธิ์ตลาดแก้ว ของอำเภอท่าวุ้งได้รับประโยชน์โดยตรง และยังเป็นการป้องกันแก้น้ำท่วมซ้ำซาก รวมถึงภัยแล้ง
นายคนอง กล่าวด้วยว่า ชาวบ้านยังร่วมมือช่วยกันบริหารจัดการน้ำจากโครงการแก้มลิงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการน้ำกันเอง มีการแบ่งปันให้แก่กันและกัน นอกจากแก้ปัญหาน้ำท่วมภัยแล้งแล้ว ชาวบ้านยังได้ประโยชน์จากแก้มลิงหนองสมอใสและมีอาชีพเพิ่มขึ้น หลังว่างจากการทำนา หรือทำประมงในอ่างน้ำของแก้มลิงแห่งนี้ และทุกปีจะนำพันธุ์ปลา พันธุ์กุ้งมาปล่อย เมื่อถึงช่วงฤดูปลาวางไข่จะหยุดจับ เพื่อให้สัตว์น้ำได้เพิ่มประชากร จึงทำให้มีปริมาณสัตว์น้ำอยู่มาก โดยเฉพาะปลานิลจิตรลดาที่นำมาปล่อยเลี้ยง มีรสชาติอร่อยมาก
“จากคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ ร่วมถึงมีผู้เคยนำปลานิลจิตรลดาไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ยังตรัสว่าปลาที่นี้อร่อยที่สุดของประเทศไทย ถือว่าแก้มลิงหนองสมอใสแห่งนี้เป็นประโยชน์อันสูงสุดของชาวอำเภอท่าวุ้งที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ทำให้ในวันนี้ได้เห็นผลที่ชัดเจนว่าหลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง แต่ 3 ตำบล คือบางลี่ บางคู้ และโพธิ์ตลาดแก้ว ชาวบ้านมีน้ำใช้ตลอด รวมถึงน้ำทำนา” กำนันตำบลบางคู้ กล่าว
ด้านนายบุญชู แห่งเจริญ ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำแก้มลิงหนองสมอใส เสริมว่า โครงการแก้มลิงหนองสมอใสยังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของอำเภอท่าวุ้ง ที่ชาวบ้าน 3 ตำบล สามารถจัดสรรน้ำแบ่งปั่นน้ำส่วนหนึ่งไปทำนาปลูกข้าวได้จำนวน 1500-2000 ไร่ ในช่วงฤดูแล้ง จากที่เคยปลูกข้าวได้ปีละ1ครั้ง หลังจากที่มีโครงการนี้สามารถปลูกข้าวได้ปีละ 2 ครั้ง ข้าวนาปีเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเก็บเกี่ยวเดือนกันยายน และรอบที่ 2 นาปรังเริ่มเดือนธันวาคมเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคมหรือช้าสุดเมษายน ทำให้ไม่กระทบต่อฤดูน้ำหลาก อีกทั้งชาวบ้านยังหาปลาหากุ้งจากแก้มลิงได้ด้วย สร้างรายได้ครอบครัวเป็นอย่างดี หากทำตามแนวทางของพระองค์.-สำนักข่าวไทย