ภูมิภาค 3 พ.ย. – สีสันลอยกระทง นายอำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เปิดงานประเพณียี่เป็ง หนองบัวพระเจ้าหลวง จุดผางประทีปนับหมื่นดวงสว่างไสวสวยงามทั่วบริเวณ ส่วนที่ จ.จันทบุรี ตื่นตากระทงยักษ์หาดแหลมสิงห์ ขณะที่ร้อยเอ็ด ลอยกระทงยิ่งใหญ่ รำวงสมมาน้ำ 1,000 คู่
นายอำเภอดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ เปิดงานประเพณียี่เป็ง หนองบัวพระเจ้าหลวง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยจุดผางประทีปนับหมื่นดวงบริเวณหาดทรายลงไปในน้ำ จนสว่างไสวสวยงามทั่วอ่างเก็บน้ำหนองบัวพระเจ้าหลวง ประชาชนและนักท่องเที่ยวต่างมาเก็บภาพแห่งความสวยงามไว้เป็นที่ระลึก สถานที่แห่งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 9 พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เคยเสด็จประทับเรือหางยาวพระที่นั่ง ต้อนรับสมเด็จพระราชินีเดนมาร์กเมื่อปี 2505 ส่วนในอ่างเก็บน้ำยังประดับไฟเป็นรูปเรือพระที่นั่งจำลอง ซึ่งทางอำเภอดอยสะเก็ดได้ร่วมกับเทศบาลตำบลเชิงดอย จัดงานเทศกาลโคมล้านนา ปูจาผางประทีป เพื่อสืบสานประเพณียี่เป็งดั้งเดิม ขึ้นมาในสถานที่แห่งนี้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ถวายเป็นพุทธบูชาและขอขมาพระแม่คงคา
ส่วนที่ชายหาดแหลมสิงห์ ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี นายกเทศมนตรี ร่วมกับชาวบ้านเร่งตกแต่งสถานที่จัดงาน เปิดฟ้าทะเล ลอยกระทง “มหัศจรรย์แห่งชลาลัย ลอยกระทงสาย ไหลประทีป หนึ่งหมื่นดวง ” ประจำปี 2560 โดยประดับแสงไฟหลากสีลงบนกระทงยักษ์ 11 ใบ บริเวณทางเดินโดยรอบและตลอดแนวชายหาดประดับด้วยเสาโคมไฟระย้า และคบเพลิงไม้ไผ่ตลอดเส้นทาง คาดจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไม่ต่ำกว่า 10,000 คน สำหรับรูปแบบในการจัดงานปีนี้ เน้นสีสันลอยกระทงชายหาดแหลมสิงห์ ให้เป็นสวรรค์เหนือสายน้ำ สวรรค์บนหาดทราย โดยประชาชนและนักท่องเที่ยวจะได้ร่วมกิจกรรมโคมลอยน้ำ 5,000 โคม กระทงใบใหญ่ 1 ใบ และกระทงบริวาร 10 ใบ หลากหลายสีสัน ชมพระอาทิตย์ตกดิน ดวงจันทร์ดวงใหญ่ริมหาด ชิม ช้อป อาหารทะเลมากมาย
ขณะที่บริเวณบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด จัดงานสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป ครั้งที่ 19 ประจำปี 2560 โดยมีการรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป ผู้รำ 1,000 คู่ นำโดยนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด และภรรยา เป็นคู่นำรำ นักเรียนนักศึกษาจำนวน 2,000 คน สาวรำวง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในประเทศไทยที่คิดท่ารำวงพระจันทร์วันลอยกระทง
ประเพณีสมน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป จัดขึ้นในวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 60 เพื่ออนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม รวมถึงเป็นการขอขมาพระแม่คงคา ผู้ให้น้ำเพื่อการดำรงชีวิตและเป็นการสร้างความสุขสนุกสนานความสมัครสมานสามัคคีในหมู่พี่น้องประชาชน เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิถีไทย ให้นักท่องเที่ยวได้จดจำและยึดถือเป็นเป้าหมายหนึ่งของการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องต่อไป. – สำนักข่าวไทย