ทำเนียบรัฐบาล 17 ต.ค.-วิษณุ ระบุไม่ต้องกังวลเรื่องใช้คำราชาศัพท์ อย่าให้คำศัพท์กีดขวางความจงรักภักดี มองเป็นเรื่องดีที่จะได้ให้ความรู้กับประชาชน
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันพรุ่งนี้(18 ต.ค.) จะมีหารือเกี่ยวกับการเตรียมการพระบรมศพหรือการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่จะเดินทางมาร่วมแสดงความอาลัย ซึ่งมีผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมรายงาน สำหรับประเด็นการสร้างพระเมรุ ต้องรอพระบรมราชวินิจฉัยก่อน โดยครั้งที่นายกรัฐมนตรีเฝ้าทูลละอองพระบาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระราชบัณฑูรว่ารายละเอียดเกี่ยวกับงานพระเมรุได้มอบหมายให้พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเป็นแม่งานวินิจฉัยปัญหาต่าง ๆ
“ทั้งรูปแบบการใช้เมรุ สี ซึ่งเลขาธิการพระราชวังได้กล่าวไว้ว่า ต้องมีสิ่งก่อสร้างหลายอย่างที่ท้องสนามหลวง นอกจากพระเมรุปกติจะมีศาลาทรงธรรมที่ประทับและรับแขกที่มาถวายพระเพลิง ศาลาพลับพลาสำหรับประชาชน รวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ สำหรับพระสงฆ์ 4 ทิศ ครั้งนี้จะขยายให้กว้างกว่างานพระบรมศพเจ้านายในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งกรมศิลปากรมีประสบการณ์” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า ตามโบราณราชประเพณีต้องถวายพระเพลิงที่ท้องสนามหลวงหรือที่เรียกว่าทุ่งพระเมรุ อย่างไรก็ตาม ท้องสนามหลวงได้ว่างเว้นกับการถวายพระเพลิงมานานย้อนหลัง 80 ปีที่ผ่านมา โดยพ.ศ. 2493 ถวายพระเพลิงสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 พ.ศ.2498 ถวายพระเพลิงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พ.ศ.2527 – 2528 ถวายพระเพลิงสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พ.ศ. 2551 พระราชทานเพลิงสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พ.ศ.2554 พระราชทานเพลิงสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
“เจ้าหน้าที่ยังมีองค์ความรู้เพราะได้จัดพระราชพิธีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจะทรงวินิจฉัย ทุกอย่างจะใช้ตามโบราณราชประเพณี ครั้งนี้ไม่ต้องซ่อมอะไรมาก แต่พระเมรุจะต้องสร้างขึ้นใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลาสร้าง 4-8 เดือน เมื่อถวายพระเพลิงเสร็จก็จะรื้อออก ไม่เก็บไว้” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวชื่นชมสื่อวิทยุและโทรทัศน์ที่ช่วยรายงานข่าวสารข้อมูลได้อย่างถูกต้องแก่ประชาชน หากมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกสามารถแนะนำรัฐบาลได้ อย่างไรก็ตาม ขอฝากเรื่องการใช้คำราชาศัพท์โดยมองว่าช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงที่ทำให้เกิดความรู้ จึงขอขอบคุณสื่อโทรทัศน์ที่พยายามหาข้อมูลข่าวสารเกล็ดเล็กเกร็ดน้อยให้กับประชาชน ซึ่งทำให้ไม่น่าเบื่อ จะทำให้คนเกิดความจดจำและเกิดความรู้ เพราะเราต้องอยู่กับสิ่งนี้ไปอีกนาน เนื่องจากเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย
“ส่วนเรื่องคำศัพท์ต่าง ๆ ผมมองว่าไม่อยากให้คำศัพท์ต้องมากีดขวางความจงรักภักดี แต่ต้องระวังอย่าลดทอนพระบรมเดชานุภาพ รู้สึกอย่างไร ก็พูดไปเถอะ ถึงจะเกินก็ดีกว่าขาด แต่หากทำให้ถูกตามระเบียบแบบแผนก็จะเป็นการดี เป็นการสืบความรู้ต่อไป บางคำ คนอาจไม่เข้าใจ เช่น คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ คนรุ่นปัจจุบันไม่ค่อยจะชิน แต่คำนี้เป็นคำเก่าที่มีมาแต่โบราณ เป็นคำที่ผู้ใหญ่รุ่นเก่าใช้เรียก แปลว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เสด็จสวรรคตแล้ว อย่าไปแปลว่าอยู่ในพระบรมโกศ ไม่ว่าจะทรงสถิตอยู่ในพระบรมโกศหรือไม่ ไม่ว่าจะสถิตอยู่ในพระหีบหรือสิ่งอื่นก็เรียกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า สามารถเรียกว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้นก็ได้ เพราะเรายังไม่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่ แต่หากเรียกแล้วจะติดคำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศก็ไม่เป็นไร คำแนะนำที่ทางสำนักพระราชวัง ซึ่งถูกต้องตามแบบแผน แต่อาจทำให้คนอ่านเกิดความตระกุกตะกัก เพราะการออกพระนามเต็มต้องเป็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร หรือไม่เช่นนั้น สำนักพระราชวังแนะนำให้ออกคำว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทร (อ่านออกเสียงว่า ปอ-ระ –มิน-ทะ-ระ) มหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งหลายคนออกเสียง ปอระมิน อยู่ อย่าลืมว่า ไม่ได้ใส่การันต์ ใครจะสะดวกใช้อย่างยาวอย่างสั้นหรืออย่างเต็มก็ใช้ หรือจะใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศก็ได้ หรือแม้จะใช้คำว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ เพราะไม่ได้หมายความเป็นอื่น สมกันแล้วกับที่บอกว่ายังสถิตย์อยู่ในหัวใจของเรา
“บางทีสิ่งที่สำคัญกว่าความถูกต้องตามระเบียบแบแผน ภาษาคือความรู้สึก รู้สึกอย่างไรก็ใช้ไป เพราะถ้าเถรตรงจริง ๆ คำว่าในหลวงก็เป็นคำที่ไม่ควรมาใช้เป็นทางการแต่เราก็ใช้ เมื่อครั้งที่ริเริ่มใช้คำว่าสมเด็จย่ากันมาเมื่อหลายสิบปี ผู้รู้เคยทักท้วงว่าอย่าไปนับญาติกับเจ้านายเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนไปกราบบังคมทูลถามสมเด็จพระศรีนครินทร์ฯ ท่านตอบกลับมาว่าเขาอยากรียกอะไรก็ให้เรียกไปเถอะ ฉันรู้ว่าเขาเรียกฉันก็แล้วกัน ตั้งแต่นั้นมาก็เรียกสมเด็จย่ากันทั้งประเทศและไม่คิดจะเรียกอย่างอื่นให้ยืดยาว” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวว่า สำหรับคำอย่างอื่น เวลาที่จะอาลัย ถ้าเป็นกรณีคนธรรมดาเราไม่เคยพูดว่าให้อาลัย แต่เราจะบอกว่าไว้อาลัย ดังนั้น ความอาลัยไม่ได้มีไว้สำหรับให้ผู้ตาย แต่เป็นสิ่งที่ต้องเก็บไว้ในใจของเรา ดังนั้น จึงต้องไว้อาลัยไม่ใช่ให้อาลัย จึงไม่สามารถใช้คำว่าถวายอาลัยได้ เพราะถวายแปลว่าให้ จึงให้ใช้คำว่า “ประชาชนไว้อาลัย ถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
นายวิษณุ กล่าวว่า คำอีกคำหนึ่งที่สำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักพระราชวังแนะนำคือ เวลาไปกราบพระบรมศพ หากไปงานศพทั่วไปใช้คำว่า ไหว้ศพ กรณีพระบรมศพคำที่ควรต้องใช้คือคำว่า “ถวายสักการะพระบรมศพ หรือ ถวายบังคมพระบรมศพ
“คำศัพท์ต่าง ๆ ต้องค่อย ๆ หาความรู้ แต่อย่ามาตำหนิกันว่าใครใช้คำศัพท์ผิด ค่อย ๆ ปรับกันไป และอย่าตำหนิว่าใครไม่ไว้ทุกข์ พร้อมกับชมเชยชาวบ้านที่เปิดบริการย้อมผ้าดำฟรีให้กับประชาชนด้วย.-สำนักข่าวไทย