กทม.31 ต.ค.- กฟน. ชี้แจงผู้ได้รับผลกระทบ ก่อนนำสายไฟลงใต้ดินช่วงถนนพระราม3 แล้วเสร็จปี63 มูลค่ากว่า 1,500ล้านบาท
นายราเชนทร์ พฤทธิพงศ์พันธุ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นประธานการประชุมชี้แจง “แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการพระราม 3 (ช่วงสะพานพระราม 9 – เลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร) โดยมีผู้ประกอบการร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเข้าร่วมรับฟัง
นายราเชนทร์ กล่าวว่า การดำเนินการก่อสร้างโครงการพระราม 3 จะอยู่ในช่วงเวลา 22.00 – 05.00 น. ของทุกวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบบางส่วนกับประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อชี้แจงแผนงานการก่อสร้างทั้งงานโยธาและงานระบบไฟฟ้า ที่จะดำเนินการบนผิวจราจรบริเวณถนนพระราม 3 ให้ได้รับทราบแผนงานของ กฟน. ล่วงหน้าก่อนเริ่มดำเนินการ และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงความคิดเห็น พร้อมนำคำแนะนำมาพิจารณาปรับปรุงแผนงานให้มีความเหมาะสมส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
สำหรับการดำเนินการก่อสร้าง เริ่มตั้งแต่ช่วงสะพานพระราม 9 ถึงเลียบทางพิเศษเฉลิมมหานคร มูลค่าโครงการทั้งสิ้น 1,520 ล้านบาท รวมระยะทางการก่อสร้าง 6.2 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2560 ถึง ปี 2563 แบ่งพื้นที่ก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ถนนพระราม 3 ซอย 47 ถึงแยกพระราม 3 – ถนนนราธิวาสฯ ระยะที่ 2แยกพระราม 3 – นราธิวาสฯ ถึงถนนเลียบทางพิเศษฯ และ ระยะที่ 3 แยกสะพานพระราม 9 ถึงถนนพระราม 3 ซอย 47
โดยความคืบหน้าล่าสุด กฟน. ได้ลงพื้นที่สำรวจ ปรับปรุงแบบก่อสร้างให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นดินในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว และเตรียมพร้อมดำเนินการสร้างบ่อพัก และวางท่อร้อยสายไฟฟ้า เพื่อติดตั้งสายไฟฟ้าใต้ดิน พร้อมกับประสานผู้ประกอบการนำสายสื่อสารลงใต้ดินต่อไป
ถนนพระราม3 เป็นส่วนหนึ่งในโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ของ กฟน. โดยภาพรวมต้องดำเนินการรวมระยะทาง 214.6 กิโลเมตร มีกำหนดแล้วเสร็จภายในปี 2564 ล่าสุดได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 43.5 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 20.3 อยู่ระหว่างดำเนินการ 43.8 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 20.4 และโครงการรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน 127.3 กิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 59.3 หากดำเนินการแล้วเสร็จตามแผน กรุงเทพฯ จะกลายเป็นมหานครไร้สาย Smart Metro.-สำนักข่าวไทย