กรุงเทพฯ 28 ต.ค.-กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจแก้ไขร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย
แพ่งและพาณิชย์เพื่อธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ผ่าน ครม.แล้ว
ช่วยลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ ทำให้การบริหารธุรกิจมีความคล่องตัว
ดึงดูดนักลงทุนหันมาสนใจร่วมทุนมากขึ้น
นางอภิรดี ตันตราภรณ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ….
เพื่อธุรกิจสตาร์ทอัพ ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพาณิชย์ ได้นำร่าง พ.ร.บ.แก้ไขฯ
ฉบับดังกล่าวรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ
ภาคเอกชน ประชาชน และผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพ จำนวน 4 ครั้ง รวมทั้ง
การรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (www.dbd.go.th) โดยหลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นแล้ว
กรมฯ ได้นำความเห็น ข้อเสนอแนะทั้งหมดมาทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบการอาจเกิดขึ้นจากกฎหมายฯ
ฉบับนี้ และได้ทำการปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายฯ ตามที่ได้รับฟังความคิดเห็น
และได้นำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ได้ผ่านความเห็นชอบแล้ว โดยขั้นตอนต่อไป สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
จะส่งร่างกฎหมายฯ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งหากผ่านการพิจารณาฯ
แล้ว ก็จะดำเนินการส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา 3 วาระ ก่อนตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวเพิ่มเติมว่า
“หัวใจหลักของการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฯ
คือ ช่วยลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของธุรกิจสตาร์ทอัพ
และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.แก้ไขฯ
ฉบับนี้ แบ่งออกตามวัตถุประสงค์ 2 ประเด็น ดังนี้ ประเด็นที่ 1
เพื่อดึงดูดนักลงทุนและสร้างแรงจูงใจในการเข้ามาร่วมลงทุน สาระที่ปรับแก้ คือ นักลงทุนหรือเจ้าหนี้สามารถเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทได้
โดยการซื้อหุ้นจากการเสนอขายโดยเฉพาะเจาะจง หรือการแปลงหนี้เป็นทุนแล้วแต่กรณี และ
หุ้นบุริมสิทธิที่ออกให้แก่นักลงทุนหรือเจ้าหนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสิทธิจากที่กำหนดไว้เดิมได้
และสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้
ซึ่งจะทำให้นักลงทุนหรือเจ้าหนี้มีส่วนในการตัดสินใจในการร่วมลงทุนกับบริษัทมากขึ้น”
ประเด็นที่ 2 เพื่อสร้างแรงจูงใจการทำงานให้แก่พนักงานและผู้บริหาร
สาระที่ปรับแก้ คือ ทยอยให้หุ้นแก่พนักงาน
(Vesting) เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงาน
ซึ่งจะทำให้พนักงานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นเจ้าของกิจการ และ ซื้อหุ้นได้ในราคาที่กำหนด หรือ ESOP :
Employee Stock Option Plan แม้ว่าราคาตลาดในช่วงนั้นจะปรับขึ้นไปอยู่ในระดับใดก็ตาม
โดย ESOP เป็นรูปแบบหนึ่งของสวัสดิการที่บริษัทให้แก่กรรมการและพนักงาน
เป็นเครื่องมือในการกระจายกรรมสิทธิ์ในทุนของบริษัทให้แก่กรรมการและพนักงานของบริษัท
“การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อธุรกิจสตาร์ทอัพ
เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
ส่งผลให้ผู้ประกอบการกลุ่มสตาร์ทอัพสามารถจัดตั้งบริษัท/ดำเนินกิจการได้คล่องตัวมากขึ้นและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนที่กำลังเข้ามาร่วมลงทุน และดึงดูดให้นักลงทุนทั้งชาวไทย/ชาวต่างชาติตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนกับธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย
ซึ่งจะส่งผลให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศมีระดับที่สูงขึ้นตามไปด้วย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคม Thai Tech Startup พบว่า
ในช่วงระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา (2559 – 2560)
กลุ่มผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศไทยมีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด
ถึงร้อยละ 80 โดยมีจำนวนรวมกว่า 1,500 ราย
โดยคาดว่าในอนาคตจะมีผู้ประกอบการสตาร์ทอัพเพิ่มสูงขึ้นถึง 3,000 – 5,000 ราย โดยในปี 2560 นี้ สตาร์ทอัพในประเทศไทยมีมูลค่าทรัพย์สินในตลาดรวมกว่า
1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 53,000 ล้านบาท
(อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลล่าห์สหรัฐ : 33 บาท) และคาดว่าภายในปี 2562
จะมีมูลค่าทรัพย์สินในตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 2 – 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 66,000 – 99,000 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย