กรุงเทพฯ 19 ต.ค.-สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธียกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อเวลา 17.10 น. วานนี้ (18 ต.ค.) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ไปยังมณฑลพิธีท้องสนามหลวง ทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรอเฝ้ารับเสด็จ
ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมนพปฎลมหาเศวตฉัตร และทรงยกนพปฎลมหาเศวตฉัตร โหรหลวงลั่นฆ้องชัย ชาวพนักงานประโคมสังข์ แตร และดุริยางค์
สำหรับการยกนพปฎลมหาเศวตฉัตรยอดพระเมรุมาศถือเป็นสัญลักษณ์ว่า การก่อสร้างพระเมรุมาศแล้วเสร็จสมบูรณ์ พร้อมสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ โดยการการออกแบบนพปฎลมหาเศวตฉัตร กรมศิลปากรได้นำต้นแบบจากพระเมรุมาศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 โดยดำเนินการจัดสร้างตามโบราณราชประเพณีที่ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ที่ทรงได้รับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ซึ่งนพปฎลมหาเศวตฉัตร หรือฉัตรขาว 9 ชั้น ตามความหมายคือ นพ แปลว่า เก้า, ปฎล แปลว่า ชั้น, เศวต แปลว่า ขาว, ส่วนฉัตร คือ ร่ม
การจัดสร้างนพปฎลมหาเศวตฉัตรครั้งนี้มีความพิเศษ คือ มีขนาดใหญ่ ความสูงตั้งแต่ส่วนปลียอดจนถึงยอดสุด 5.10 เมตร ความกว้าง 1.10 เมตร ทำด้วยผ้าเบาทิ้งตัวสีขาวมีขลิบทอง รวม 3 เส้น โดยนำผ้า 3 ผืนมาล้อมโครง ในการขลิบทอง เส้นขลิบของฉัตรชั้นล่างมีความหนาที่สุด และแขวนประดับ ด้วยอุบะจำปาทอง 14 ช่อ ห้อยลงมาให้เกิดความสวยงาม ที่สำคัญที่บริเวณส่วนยอดของฉัตรได้ดำเนินการตามแบบโบราณราชประเพณี คือ นพปฎลมหาเศวตฉัตร ต้องมีลักษณะเป็นทรงองค์ระฆัง จากนั้นเป็นบัวกลุ่ม คั่นด้วยลูกแก้ว บัวกลุ่มต่อด้วยปลีปลายเป็นโลหะทองแดงกลึงรับ เพื่อต่อสายล่อฟ้า ซึ่งการจัดสร้างครั้งนี้มีการใช้ตาข่ายพลาสติกใส่ไว้ในโครงสร้าง เพื่อเวลาที่ฉัตรเจอลมแล้วจะไม่ยุบ ช่วยทำให้การเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติ และยังสามารถกลับมาอยู่ที่เดิมและไม่เป็นสนิม ส่วนก้านทำด้วยโลหะ เมื่อเชิญขึ้นไปจะเป็นส่วนยึดแกนพระเมรุมาศ.-สำนักข่าวไทย