กระทรวงการคลัง 19 ต.ค.-กระทรวงการคลังเผยรายได้ปีงบประมาณ 2559 สูงกว่าประมาณการได้ เพราะผลพวงจากการนำส่งรายได้จากประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 MHz และเงินนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ แม้รายได้จากกรมสรรพากรจะต่ำกว่าประมาณการก็ตาม
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558 – กันยายน 2559) ว่า จัดเก็บได้ 2,393,500 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ (2,330,000 ล้านบาท) 63,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 และสูงกว่าประมาณการรวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม (2,386,000 ล้านบาท) จำนวน 7,500 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.3 นอกจากนี้ ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณ 2558 จำนวน 180,104 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1
สาเหตุหลักที่ทำให้รายได้ปีงบประมาณ 2559 สูงกว่าประมาณการ มาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) 56,273 ล้านบาท นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 13,727 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 การจัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงกว่าประมาณการ 11,667 7,264 และ 5,831 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 7.8 และ 1.9 ตามลำดับ
“จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจ ประกอบกับความพยายามในการบริหารจัดการการจัดเก็บรายได้ของกระทรวงการคลัง ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2559 สูงกว่าประมาณการที่รวมงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องและสนับสนุนให้ฐานะการคลังของประเทศมีความเข้มแข็งเอื้อต่อการดำเนินนโยบายเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในปีงบประมาณถัดไป ”ผู้อำนวยการ สศค. กล่าว
สำหรับการจัดเก็บรายได้หน่วยงานสำคัญ อาทิ กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,757,851 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 137,149 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีงบประมาณ 2558 ร้อยละ 1.7) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่
ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 63,307 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 31,991 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.0 อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,831 ล้านบาทหรือร้อยละ 1.9
กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 517,686 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 21,386 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 โดยภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 11,667 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 เป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซินจากลิตรละ 5.35 และ 6.0 บาท เป็นลิตรละ 5.65 และ 6.30 บาท ตามลำดับ ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2559 ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 7,264 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.8 เนื่องจากการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ได้ส่งผลให้รถยนต์บางประเภทมีภาษีสรรพสามิตรถยนต์เฉลี่ยต่อคันเพิ่มขึ้น กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 111,541 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,959 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.4 เนื่องจากได้รับผลกระทบของการปรับโครงสร้างอัตราภาษีศุลกากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตระยะที่ 2 และมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัว
รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 133,727 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,727 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 291,855 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 144,255 ล้านบาท หรือร้อยละ 97.7 สำหรับกรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 6,761 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,161 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.7 ขณะที่การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 273,571 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 21,529 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 204,644 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 37,056 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.3 และการคืนภาษีอื่น ๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 68,927 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,527 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.1 อากรถอนคืนกรมศุลกากร จำนวน 10,669 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,369 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 12 งวด เป็นเงิน 102,900 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 6,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.6-สำนักข่าวไทย