สำนักข่าวไทย 5 ต.ค.- กทม.แจงการปรับขึ้นค่าโดยสารบีทีเอส เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน เพื่อนำมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเดินรถ
นายภัทรุตม์ ทรรทรานนท์ ปลัดกรุงเทพมหานคร มอบหมายให้นายธนูชัย หุ่นนิวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ชี้แจงกรณีที่มีประเด็นวิจารณ์ผ่านสื่อออนไลน์หลังจากมีการปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ระบุว่า ประชาชนและสื่อโซเชียลมีเดีย มีการวิพากษ์วิจารณ์และโพสต์ภาพตารางอัตราค่าโดยสาร ว่า สร้างความเข้าใจผิด ต่อผู้ที่ไม่เข้าใจวิธีการคิดราคา โดยสะท้อนให้เห็นว่ามีการคิดราคาในสถานีใกล้เคียงกันสูงถึง 59 บาท และมีการวิจารณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลในเชิงลบ กรณีนี้สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ชี้แจง ว่า ตามที่มีการปรับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนของเส้นทางสัมปทานสายสุขุมวิท ตั้งแต่สถานีหมอชิตถึงสถานีอ่อนนุช และสายสีลมตั้งแต่สถานีสะพานตากสินถึงสถานีสนามกีฬา ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร ตั้งแต่ 1 ต.ค.60 นั้น เป็นไปตามสัญญาสัมปทานระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยได้มีการติดป้ายแสดงราคาค่าโดยสารบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสทุกสถานี พร้อมระบุอัตราค่าโดยสารในการเดินทางไปยังสถานีแต่ละแห่งอย่างชัดเจน เพื่อแจ้งให้ผู้โดยสารทราบและสามารถชำระค่าตั๋วโดยสารได้ถูกต้อง
โดยการคิดอัตราค่าโดยสารจะเริ่มต้นสถานีแรกที่ราคา 16 บาท และปรับเพิ่มตามระยะทางจะไม่เกิน 44 บาท ซึ่งหากโดยสารตั้งแต่ 8 สถานีขึ้นไป จะคิดอัตราเท่าเดิมคือ 44 บาท อย่างไรก็ตามสำหรับผู้โดยสารที่เดินทางต่อเนื่องในเส้นทางส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท จากสถานีอ่อนนุช – สถานีสำโรง และส่วนต่อขยายสายสีลม จากสถานีวงเวียนใหญ่ – สถานีบางหว้า จะต้องชำระค่าโดยสารเพิ่มเติม ในส่วนของส่วนต่อขยาย ซึ่งคิดในอัตราเดียวคือ 15 บาท เมื่อรวมกันจึงเป็นราคา 59 บาท ตามที่แสดงในตารางราคาบริเวณสถานีบีทีเอส อาจทำให้เห็นว่าการคิดราคาในสถานีใกล้เคียงกันสูงถึง 59 บาท
ส่วนกรณีเว็บไซต์ Pantip ได้ตั้งกระทู้ข้อสังเกตถึงอัตราค่าโดยสารบีทีเอสใหม่ ว่าแพงเกินจริงหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพของคนไทย และมีการเปรียบเทียบกับราคาในต่างประเทศ กรณีนี้หากเปรียบเทียบกับการจัดการเดินรถในต่างประเทศโดยส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาเส้นทางโดยรอบของสถานีในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถนำรายได้ดังกล่าวมาเป็นทุนในการบริหารและจัดการเดินรถได้ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์มากนัก โดยมีรายได้หลักจากการจัดเก็บค่าโดยสารและค่าโฆษณาภายในสถานี จึงจำเป็นต้องนำรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสารมาเป็นต้นทุนในการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส หากย้อนไปดูสัญญาสัมปทาน ระหว่างกรุงเทพมหานคร กับ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สัญญาระบุไว้ว่า บริษัทฯ อาจปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บเป็นคราวๆ ไป และสามารถปรับค่าโดยสารได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุด ซึ่งเพดานอัตราค่าโดยสารสูงสุดปัจจุบันอยู่ที่ 60.31 บาท โดยบริษัทฯ มีการปรับราคาค่าโดยสารครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.56 ซึ่งเป็นเวลากว่า 4 ปี แล้ว.-สำนักข่าวไทย