ทำเนียบฯ 27 ก.ย.- รัฐบาลเผย WEF ขยับอันดับไทยในแง่ความสามารถการแข่งขัน ดีขึ้นเป็นอันดับ 32 ของโลก
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานอนุกรรมการด้านการจัดการข้อมูลฯ คณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) เปิดเผยว่า ผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ของ (WEF: World Economic Forum) ประจำปี 2560 ปรากฎว่าไทยมีอันดับดีขึ้น 2 อันดับจาก 34 ได้รับคะแนน 4.67 เพิ่มเป็น 32 คะแนน 4.72 ในปีนี้ เมื่อเทียบในกลุ่มอาเซียนนับว่าไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยประเทศเพื่อนบ้านที่น้อยกว่าไทยได้แก่ อินโดนิเซีย บรูไน และเวียดนาม และกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่อันดับขยับเพิ่มขึ้น นับว่าทุกประเทศตื่นตัวในเรื่องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างมาก
คะแนนของไทยปรับดีขึ้น เนื่องจากการพัฒนาในหลายด้านหลัก จากคะแนนรวม 12 ด้านหลัก ไทยดีขึ้น 8 ด้านหลัก และเท่าเดิม 4 ด้านหลัก โดยไม่มีด้านหลักใดปรับลดลงเลย นับว่าการแก้ปัญหาด้านต่างๆได้ทำให้ด้านหลักคะแนนปรับเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการอำนวยความสะดวกขององค์กรภาครัฐ เช่น ด้านเศรษฐกิจมหาภาคจัดอยู่ในอันดับ 9 ได้คะแนนรวม 6.2 ถือว่าภาพรวมดีมาก ส่วนด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบว่าอันดับดีขึ้นจาก 49 เพิ่มเป็น 43 ส่วนด้านนวัตกรรมอันดับดีขึ้น เรื่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาล จึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาและแก้ไข พร้อมทั้งเร่งพิจารณาจุดอ่อนของตนเองเพื่อกำหนดเป้าหมายและแก้ปัญหาให้ถูกจุด ซี่งจะทำให้ผลการจัดอันดับจะดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะการวัดและประเมินผลในขณะนี้ยังประเมินไม่หมดตามที่รัฐบาลเดินหน้าดำเนินการในหลายด้าน
นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ สศช. กล่าวว่า รัฐบาลได้เร่งรัดแก้ปัญหาด้านต่างๆ จึงทำให้อันดับขยับเพิ่มดีขึ้น การสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในการตั้งศูนย์นวัตกรรม การอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจ เช่นให้บริการใบอนุญาตบางรายการเกี่ยวกับการตั้งธุรกิจปีนี้ใช้เวลา 25 วัน ในปีหน้ากำหนดให้ลดเหลือ 2.5 วัน ยอมรับว่าด้านใดที่มีจุดอ่อนต้องปรับปรุงทบทวนรูปแบบ เพราะพัฒนาเท่าใด อันดับก็ไม่ขยับขึ้น เช่น การศึกษา การให้บริการหน่วยงานรัฐในบางด้าน อย่างไรก็ตาม WEF เตรียมปรับน้ำหนักการประเมินจากเดิมใช้ข้อมูลจริงเพียงร้อยละ 30 สัดส่วนร้อยละ 70 มาจากการสำรวจ เพื่อปรับเน้นแบบกลับหัวใช้ข้อมูลจริงร้อยละ 70 จึงทำให้กลุ่มอาเซียนรับบทหนักจากการปรับรูปแบบประเมินแบบข้อมูลจริงมากขึ้น
ยอมรับว่าการบริการของสถาบัน หน่วยงานรัฐ ที่ยังมีปัญหาต้องเร่งแก้ไข เพราะหากปล่อยให้เป็นปัญหานานไปจะทำให้อันดับของประเทศต่ำลงต่อไป เช่น ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา ความน่าเชื่อถือของการให้บริการของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุน ผลกระทบจากปัญหาก่อการร้าย การเข้าเรียนในระดับประถมต้องมีสัดส่วนมากขึ้น นักศึกษาต้องเรียนมาให้ตอบโจทย์ของภาคเอกชนที่ต้องการแรงงานคุณภาพให้มากขึ้น ต้องสอบถามความต้องการของภาคเอกชนให้มากขึ้น และต้องร่วมมือแบบประชารัฐ รวมทั้งอุปสรรคปัญหาข้อกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการอำนวยความสะดวกจึงต้องเร่งเดินหน้าแก้ปัญหา.-สำนักข่าวไทย