ศูนย์ฯ สิริกิติ์ 22 ก.ย. – รมว.คลังฝากการบ้าน คปภ.คุมเข้มจริยธรรมธุรกิจประกันภัย คุ้มครองผู้เอาประกัน สั่งกรมสรรพากรอุดช่องโหว่หนีภาษี หลังแบงก์เล็กบางแห่งแนะลูกค้าปิดบัญชีเงินฝากเมื่อดอกเบี้ยชนเพดานเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี พร้อมดึงธุรกิจประกันซื้อหน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน คาดเปิดจำหน่ายต้นปีหน้า
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างการเปิดงาน “สัปดาห์ประกันภัยปี 2560” หรือ Insurance Expo 2017 และปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “โอกาสและความท้าทายของเทคโนโลยีประกันภัย สู่อนาคตไทย” ว่า เมื่ออุตสหากรรมประกันภัยต้องใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบประกันมากขึ้น คปภ.จึงต้องกำกับดูแล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งลูกค้าผู้เอาประกัน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้าสู่ระบบประกันรายใหม่จาก 800,000 คนต่อปีในปีนี้ เพิ่มเป็น 1 ล้านคนในช่วง 3 ปี ข้างหน้า ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยต้องหาแนวทางให้สังคมรับรู้ถึงความสำคัญว่าการทำประกัน เพื่อบริหารความเสี่ยงบุคคลในยุคการใช้เทคโนโลยีและระบบออนไลน์บริการเข้าถึงประกัน
นอกจากนี้ ต้องการเน้นย้ำให้ผู้บริหารธุรกิจประกัน สถาบันการเงินให้ความสำคัญด้านจริยธรรม หลังเกิดปัญหาธนาคารรายย่อยบางแห่งอาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการหักภาษี ณ ที่จ่ายร้อยละ 15 ของผู้มีรายได้จากดอกเบี้ย สำหรับผู้รับดอกเบี้ยเงินฝากไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี จะได้รับการยกเว้นภาษี ดังนั้นเมื่อมองว่าลูกค้าได้รับดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาทต้องเสียภาษี จึงใช้กลยุทธ์การฝากเงินให้กับลูกค้าเมื่อยอดรับดอกเบี้ยถึง 19,000 บาท จะให้ลูกค้าปิดบัญชีแลัวเปิดบัญชีใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นการทำผิดจริยธรรม จึงสั่งการให้กรมสรรพากรหาช่องทางปิดช่องโหว่ดังกล่าวด้วยการนำยอดรวมทุกบัญชีเงินฝากของบุคคลคำนวณรายได้ดอกเบี้ยหากเกิน 20,000 บาทต้องเสียภาษี เพื่อเปิดให้เคลมขอคืนภาษีภายหลังช่วงสิ้นปี อีกแนวทางหนึ่งคงต้องย้ำกับผู้บริหารธนาคารให้ดูแลปัญหาดังกล่าว แต่ไม่รับรองเรื่องจริยธรรมจะคุมได้เพียงใด
นายอภิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ธุรกิจประกันจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยอมรับว่าสัดส่วนการเอาประกันยังต่ำกว่าหลายประเทศพัฒนาแล้วนับ 10 เท่า ดังนั้น จึงอยากให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมประกันและ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ส่งเสริมการรับรู้การทำประกันให้กับประชาชนมากขึ้น เพราะประกันถือเป็นแหล่งสะสมเงินทุนของประเทศระยะยาวและสามารถใช้บริหารความเสี่ยงระยะยาวได้ ปัจจุบันมีสภาพคล่องของบริษัทประกันจำนวนมาก จึงต้องการชวนให้นำสภาพคล่องมาลงทุนระยะยาวผ่านกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เพราะเป็นกองทุนของรัฐบาลบริหารจึงมีความเสี่ยงต่ำ เหมาะสมกับการนำสภาพคล่องการลงทุน ดังนั้น จึงอยากให้ คปภ. ส่งเสริมให้บริษัทประกันเข้ามาลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการเกี่ยวกับผลตอบแทนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) คาดว่าจะเริ่มออกกองทุนเพื่อจำหน่ายให้กับนักลงทุนได้ช่วงต้นปีหน้า
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า การจัดงานสัปดาห์ประกันภัยปีนี้รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจกิจิทัล ขณะนี้ธุรกิจประกันภัยยื่นขอใบอนุญาตขายประกันผ่านออนไลน์และใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ หลังจากออกประกาศเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมามีเอกชนยื่นใบขออนุญาตแล้ว 70 ราย และเริ่มทดลองระบบ Sand Box ของ คปภ. 15 ราย เพื่อทดลองการใช้เทคโนโลยีใหม่ออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่เพิ่มรองรับการพัฒนาของเทคโนโลยี โดยช่วงที่ผ่านมาการเติบโตของอุตสาหกรรมประกันยังขยายตัวไม่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว โดยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมาเบี้ยประกันรับรวมประมาณ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันชีวิต 297,000 ล้านบาท และประกันภัย 184,000 ล้านบาท คาดว่าทั้งปีเบี้ยประกันรวมประมาณ 800,000 ล้านบาท และคาดว่าอีก 3 ปีข้างหน้าเบี้ยประกันรวมคาดว่าจะถึง 1 ล้านล้านบาท โดยปีนี้ คปภ.ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการทำประกันวินาศภัยภายในสิ้นปี 218,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4 ด้านประกันชีวิต 600,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7 รวมทั้งระบบจะขยายตัวร้อยละ 6.4
ทั้งนี้ คปภ.จึงร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน จัดงานสัปดาห์ประกันภัย ประจำปี 2560 (Insurance Expo 2017) ภายใต้แนวคิด “เทคโนโลยีประกันภัย เชื่อมต่อโอกาสและความท้าทาย เพื่ออนาคตไทย” (InsurTech Connect : Opportunities and Challenges for Thailand Future) และพิธีมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร (Prime Minister’s Insurance Awards) ระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2560 นำไฮไลท์ในการโชว์นวัตกรรมด้านประกันภัยด้วยการเปิดตัวโมบาย Motor Risk แอพพลิเคชั่นให้เลือกค้นหาข้อมูลถึง 8 ฟังก์ชัน เช่น การตรวจสอบการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ของตัวเอง การตรวจสอบการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ของคู่กรณี การแจ้งเตือนวันหมดอายุการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) การแจ้งอุบัติเหตุ การค้นหาข้อมูลสายด่วนของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน การค้นหาสถานที่ต่าง ๆ การตรวจสถานะการเคลมด้วยการกรอกเลขเคลมหรือเลขบัตรประจำตัวประชาชน และการค้นหาข้อมูลข่าวสาร สาระน่ารู้ และประกาศฯ ต่าง ๆ ของ คปภ.
รวมทั้งมีการโชว์นวัตกรรมด้านประกันภัยผ่านทาง Insurance Bureau System เกี่ยวกับฐานข้อมูลกลาง ที่แสดงพื้นที่การทำประกันภัยทั่วประเทศ เช่น การตรวจสอบพื้นที่การทำประกันภัยข้าวนาปี การตรวจสอบพื้นที่ การทำประกันทรัพย์สิน รวมทั้งการแสดงฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมประกันภัยไทย เช่น จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย กรมธรรม์อัคคีภัย และการทำประกันภัยทางทะเล เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการโชว์นวัตกรรมเทคโนโลยีประกันภัยล่าสุดจากต่างประเทศ ตลอดจนการให้บริการกรมธรรม์ออนไลน์ ออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่สนใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านออนไลน์ รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาบริหารจัดการปรับปรุงและพัฒนาระบบการทำงานให้เป็นโครงข่ายใยแมงมุมแบบเรียลไทม์ โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันเป็นเครือข่ายออนไลน์อีกด้วย สามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยราคาถูกพิเศษลดสูงสุดร้อยละ 30 และลุ้นรับของรางวัลมากมาย ตลอดจนพบกับความบันเทิงจากศิลปินดาราชั้นนำได้ภายในงานสัปดาห์ประกันภัย
สำหรับการมอบรางวัลประกันภัยดีเด่นครบวงจร ประจำปี 2559 รางวัลเกียรติคุณบริษัทประกันภัยดีเด่น ประจำปี 2560 และและบริษัทประกันชีวิตที่มีการบริหารงานดีเด่น ประจำปี 2559 อันดับ 1 ได้แก่บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัทประกันวินาศภัยที่มีการบริหารงานดีเด่น ประจำปี 2559 อันดับ 1 ได้แก่ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) และมอบรางวัลวให้กับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ซึ่งร่วมดำเนินการประกันภัยข้าว รางวัลตัวแทนประกันชีวิตคุณภาพดีเด่น และโครงการยุวชนประกันภัย ประจำปี 2560 จำนวน 15 รางวัล เพื่อส่งเสริมสถาบันการศึกษา หวังสนับสนุนให้เด็ก นักเรียนมองเห็นความสำคัญของการทำประกัน.- สำนักข่าวไทย