กรุงเทพฯ 27 ส.ค. -นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวนางสาวยิ่งลักษณ์ เดินทางออกจากไทยไปยังกัมพูชา สิงคโปร์ และนครดูไบ ว่า ทราบจากข่าวที่ปรากฎเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ยังไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมใดๆ โดยได้มีการแจ้งล่าสุดของคดีให้สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ไทยทั่วโลกทราบแล้ว
สำนักข่าว บีบีซี ของอังกฤษ รายงานว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้หลบหนีไปยังดูไบ ก่อนที่จะมีการตัดสินคดีโครงการจำนำข้าว โดยบีบีซี ได้อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งระบุเส้นทางว่านางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางไปยังกัมพูชา จากนั้นเดินทางต่อไปยังสิงคโปร์ ก่อนจะบินไปยังนครรัฐดูไบ ซึ่งเป็นสถานที่ที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร พี่ชายของอดีตนางสาวยิ่งลักษณ์ เคยหลบหนีคดีคอร์รัปชั่นไปที่นั่นเมื่อปี 2551
ขณะที่สำนักข่าวเอพี รายงานว่า ยังไม่ทราบสถานที่ที่แน่นอนว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ไปอยู่ที่ไหน แต่มีการระบุกันว่านางสาวยิ่งลักษณ์ เดินทางออกนอกประเทศโดยทางบกไปยังกัมพูชา จากนั้นเดินทางต่อไปยังดูไบเพื่อไปพบกับนายทักษิณ พี่ชาย
เช่นเดียวกับสำนักข่าวเอเอฟพี ที่รายงานอ้างแหล่งข่าวในไทย ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทย ได้หลบหนีไปยังดูไบแล้ว และอาจพยายามขอลี้ภัยการเมืองไปอยู่ในประเทศอังกฤษ โดยนางสาวยิ่งลักษณ์ ได้เดินทางโดยเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว จากประเทศไทย ไปยังสิงคโปร์ จากนั้นบินต่อไปยังนครรัฐดูไบ ซึ่งเป็นฐานของครอบครัวชินวัตร แหล่งข่าวยังบอกด้วยว่า แผนทั้งหมดเตรียมการโดยอดีตนายกฯ ทักษิณ เพราะไม่ต้องการให้น้องสาวอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้กำลังดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างละเอียด เพื่อชดใช้ความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว วงเงิน 35,000 ล้านบาท โดยมีการส่งบัญชีเงินฝาก 12 บัญชี ให้กรมบังคับคดีทำการยึดทรัพย์แล้ว ซึ่งกระบวนการต่อจากนี้เป็นหน้าที่ของกรมบังคับคดี รวมถึงการอายัดทรัพย์ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง พร้อมยืนยันว่าปฏิบัติตามหน้าที่ ถูกต้อง และทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ
ส่วนทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น ที่ดิน รถยนต์ จะดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดตามขั้นตอนและจะส่งให้กรมบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ต่อไป ซึ่งระหว่างนี้หากมีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินเพิ่ม ก็จะทยอยส่งให้กรมบังคับคดีต่อเนื่อง เพราะคดีมีอายุความถึง 10 ปี. -สำนักข่าวไทย